กบฏแมนฮัตตัน ตอนที่ ๔

ฏแมนฮัตตัน
กองกำลังฝ่ายทหารบกของรัฐบาลระดมยิง เรือหลวงศรีอยุธยาที่หมดทางหนี

ในใจความปราศรัย จอมพล ป. ได้กล่าวว่า ให้ทหารหน่วยต่างๆในกองทัพบก และตำรวจ อย่าเคลื่อนกำลัง และปฏิบัติการใช้อาวุธ โดยทางผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่จะได้เจรจากันเองอย่างสันติ แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่.....

คณะรัฐมนตรีได้เปิดประชุมกันอย่างเคร่งเครียด เพื่อพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่ว่าในกรณีใดๆ รัฐบาลจะไม่อนุโลมตามด้วยประการใดๆทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการลงมติให้ปราบปรามพวกกบฏด้วยความรุนแรง และเด็ดขาดอีกด้วย

ต่อมารัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ ประกาศให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การเรียกร้องใดๆของฝ่ายกบฏนั้น ทางรัฐบาลจะไม่ยินยอมด้วยประการทั้งปวง และยังได้ประกาศให้พวกกบฏปล่อยตัวจอมพล ป. ให้เป็นอิสรภาพโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่ปล่อยจอมพล ป. ทางรัฐบาลจะจัดการโดยเด็ดขาดและรุนแรงต่อไป

คำแถลงการณ์ไม่เป็นผล ฝ่ายทหารเรือไม่ยอมปล่อยตัวจอมพล ป. เพราะมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า การควบคุมตัวจอมพล ป. ไว้เป็นตัวประกันนั้น จะสามารถเรียกร้องสิทธิ์ทางการเมืองได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคณะรัฐประหารจึงได้ส่งกำลังรบเข้าปราบปรามทหารเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่เวลา ๐๖๐๐ ของวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ การต่อสู้ได้เกิดขึ้น ทหารบกสามารถยึดสถานที่สำคัญๆไว้ได้ และตีทหารเรือแตกกระเจิงไป จนไม่สามารถจะควบคุมการต่อสู้ได้ จึงพากันหลบหนีไปอย่างสับสนอลหม่าน แม้ว่าทหารบกจะปราบปรามทหารเรือแตกพ่ายไปแล้วก็ตาม ทหารเรือบน ร.ล.ศรีอยุธยา ก็ยังไม่ยอมปล่อยตัว จอมพล ป. ให้เป็นอิสรภาพ เพราะยังมั่นใจว่า ตราบใดที่จอมพล ป. ยังถูกควบคุมตัวอยู่บนเรือแล้ว คณะรัฐประหารคงจะไม่กล้าทำการรุนแรง แต่เป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ เพราะเวลานี้จอมพล ป. แทบจะไม่มีอิทธิพลใดเลย ต่อคณะรัฐประหาร อีกทั้งคณะรัฐประหารมิได้ให้ความสำคัญแก่จอมพล ป. เหมือนในวันแรกแห่งการรัฐประหาร เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของ จอมพล ป. เป็นเครื่องมือ เพื่อให้การทำรัฐประหารดูมีความน่าเชื่อถือ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

จนกระทั่ง เวลา ๑๕๐๐ จอมพล ฟื้น ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้สั่งให้เครื่องบิน ทิ้งระเบิดบอมบ์ ร.ล.ศรีอยุธยา เสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว เรือค่อยๆเอียง และจมลงอย่างช้าๆ สภาพบนเรือ เกิดความโกลาหลวุ่นวาย ทหารเรือบางส่วนพากันกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาว่ายเข้าหาฝั่ง โดยมีทหารเรือคนหนึ่งพยายามที่จะช่วยชีวิตจอมพล ป. ให้กระโดดน้ำหนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด

ในหนังสือ เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล ป. น.ต.มนัส ได้เขียนไว้ว่า พอกลุ่มคนเหล่านั้นว่ายน้ำพ้นหัวเรือ ก็ถูกปืนเล็กยาวและปืนกลยิงกระหน่ำ (จากฝ่ายรัฐบาล) ข้าพเจ้าร้องบอกให้ทุกคน (ทหารเรือที่อยู่วังหลวงฝั่งธนบุรี) ที่ประจำปืนอยู่บนป้อมยิงต้านทานไว้ โดยไม่ต้องเสียดายลูกปืน เราสามารถยังยั้งการยิงจากพื้นดินไว้ได้มาก แต่ไม่อาจยับยั้งการยิงกราดจากเครื่องบินที่เฝ้าโฉบลงมาอยู่เรื่อยๆ เมื่อบรรดาคนว่ายน้ำเคลื่อนเข้ามาใกล้ป้อม จึงได้เห็นว่า จอมพล ป. ก็รวมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย....

ควันไฟสีดำที่โพยพุ่งออกมาจาก ร.ล.ศรีอยุธยา พร้อมกับสภาพเรือซึ่งกึ่งจมกึ่งลอย เป็นภาพที่สลดหดหู่ยิ่งนักแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะกับเหล่าทหารเรือผู้เป็น กบฏ ในที่สุด ร.ล.ศรีอยุธยา ความภาคภูมิใจของราชนาวีไทย ก็จมลง ณ ปากคลองบางหลวง กลางลำน้ำเจ้าพระยา ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔

ถึงจุดจบของคณะกู้ชาติ ต่างคนต่างหนีเอาตัวรอด น.อ.อานนท์ และน.ต.มนัส ต้องลี้ภัยไปประเทศพม่า โดยลุยข้ามน้ำแม่สาย ลึกระดับลำคอ ก้าวขึ้นฝั่งพม่า ที่ท่าขี้เหล็ก น.อ.อานนท์ หนีไปอยู่ในกรุงย่างกุ้งของพม่าได้พักใหญ่ ก็ถอยออกมาอยู่ชายแดน เป็นครูฝึกทหารให้กับชนกลุ่มน้อย น.ต.มนัส ซึ่งต้องจาก ภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่จะหนีออกไป ว่า ลาก่อนประเทศไทยที่รักจนกว่าจะกลับมาอีก..... ซึ่งต่อมาภายหลังก็ถูกจับกุม หลังแอบเล็ดลอดกลับเข้ามาในปี พ.ศ.๒๔๙๕

หนังสือเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล ป.” ซึ่ง น.ต.มนัส จารุภา เป็นผู้บันทึกไว้ หนึ่งในหนังสือดีที่ ทหารเรือไทยทุกนายควรอ่าน


นายทหารหลักของกองทัพเรือ รวมทั้ง ผบ.ทร. ถูกปลดประจำการประมาณ ๗๐ นาย สถานที่ราชการสำคัญ ๆของกองทัพเรือในกรุงเทพถูกยึด กรมนาวิกโยธินถูกยุบ กองบินทหารเรือถูกโอนให้กับกองทัพอากาศ กองทัพเรือต้องสูญเสีย เรือธง อย่าง ร.ล.ศรีอยุธยา และ ร.ล.คำรณสินธุ ซึ่งจมจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินของกองทัพอากาศ ส่วนกองทัพอากาศได้ความดีความชอบ และเริ่มมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองการปกครองนับแต่นั้น จนในที่สุดก็ได้ก่อตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๖

พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผบ.ทร. ได้รู้ว่าตัดสินใจผิดที่มิได้ให้ความร่วมมือกับคณะกู้ชาติ เนื่องจากเห็นแก่ความเป็นเพื่อนกับ จอมพล ป. ซึ่งอยู่ในกลุ่ม คณะราษฎร ด้วยกันมาก่อน ซึ่ง จอมพล ป. ก็ตอบแทนโดยการปลดท่านออกจากตำแหน่งนั่นเอง

จอมพล ป. ซึ่งรอดตายได้อย่างหวุดหวิด ได้รู้ซึ้งถึงน้ำใสใจจริงของบุคคลรอบข้าง และได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่อยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายชะตากรรมก็กำหนด ไว้คล้ายคลึงกับ น.อ.อานนท์ และ น.ต.มนัส คืออยู่ในแผ่นดินไทยไม่ได้ ต้องหนีออกนอกประเทศ และ ไปเสียชีวิตในประเทศญี่ปุ่น

ผู้ต้องหาในคดีกบฏบางส่วนถูกควบคุมตัวอยู่ที่สนามกีฬาแห่งชาติ

กองทัพเรือถูกลดบทบาท และเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จากเดิมที่ ยุทธศาสตร์การทหารให้ความสำคัญกับกองทัพเรือเป็นอย่างมาก เนื่องจากอิทธิพลของยุคล่าอาณานิคมด้วยเรือปืนของชาติตะวันตก การพัฒนากองทัพจึงมีแผนที่จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกองทัพเรือ แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังรัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สิ้นสุดลง และจากเหตุการณ์กบฏในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้กองทัพเรือถูก บอนไซ อยู่นาน และยังคงส่งผลกระทบมาตราบเท่าจนถึงทุกวันนี้

ส่วนคำปรามาสที่ได้ เขียนไว้ในช่วงต้นของบทความนั้น เป็นคำที่มีผู้กล่าวไว้จริง หลังจากเกิด เหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน ซึ่งก็ได้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับบรรพบุรุษทหารเรือของเราเป็นอย่างมาก ส่วนตัวผู้เขียนเองนั้นมิได้ต้องการจะฟื้นฝอยหาตะเข็บ ยุแยงตะแคงรั่ว หรือมีความต้องการอื่นใด นอกจากที่อยากให้ทหารเรือรุ่นหลัง ๆ ได้รับรู้ถึงเรื่องราวที่เรียกได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ และเพื่อให้พวกเราทหารเรือไทยทุกคนจดจำ นำมาศึกษาเป็นบทเรียน ถึงแม้ว่า กบฏแมนฮัตตัน จะเป็นเรื่องราวที่ไม่โสภา ไม่น่าพูดถึง และเจ็บปวดรวดร้าวสำหรับหัวใจที่แข็งแกร่งกว่าเหล็กในเรือ ของเราก็ตามที....................

หนังสืออ้างอิง
๑. น.ต.มนัส จารุภา เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล ป. สำนักพิมพ์ประพันธสาสน์
๒. เพลิง ภูผา กบฏเมืองสยาม สำนักพิมพ์ไพลิน
๓. กลิน ๑๓ กบฏแมนฮัตตัน
๔. รศ.พรภิรมณ์ เชียงกูล ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เล่ม ๑
๕. วินทร์ เลียววาริณ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน สำนักพิมพ์บริษัท ๑๑๓ จำกัด

Comments

  1. ขอบคุณ ประวัติศาสตร์ อีกด้านนึงสำหรับคนรุ่นหลังอย่างเราๆครับ..

    ReplyDelete

Post a Comment