“ริชลิว” ผู้อยู่เบื้องหลัง ราชบัลลังก์ ตอนที่๒

ริชลิว ผู้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังค์ปฐมบท ร.ศ.๑๑๒
  • ในยุคล่าอาณานิคม ชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษ และฝรั่งเศส ได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเปิดเผย โดยอังกฤษเข้ามาทางด้านอินเดีย สู้รบกับชนชาตินักรบอย่างพม่า และสามารถยึดพม่าได้สำเร็จ ส่วนฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาบีบบังคับสยามตั้งแต่สมัย รัชกาลที่๔ ตอนปลายในปี พ.ศ.๒๔๑๐ ทำให้เราต้องยอมสละดินแดนส่วนใหญ่ของเขมร คิดเป็นเนื้อที่ ๑๒๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ต่อมาหลังจากนั้นฝรั่งเศสก็สามารถยึดญวน(เวียดนาม)ได้เป็นผลสำเร็จ
  • เป้าหมายของฝรั่งเศสนั้นอยู่ที่การยึดครองดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ไล่ไปจนถึงแคว้นยูนนานของจีน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ การยึดครองญวนได้นั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝรั่งเศสอ้างเอาเองดื้อ ๆว่า ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมด เคยเป็นของญวนมาก่อน แต่ได้ถูกสยามยึดเอาไป ฝรั่งเศสจึงจะอ้างเอาสิทธิ์นั้นกลับคืนมา
  • รูปการเป็นไปตามแผนของฝรั่งเศส เมื่อต่อมา ในแคว้นสิบสองจุไท มีพวกกบฏชาวจีนหรือฮ่อ หลบหนีอพยพมาจากประเทศจีน เข้ามาก่อความรำคาญ ประพฤติตนเป็นโจร เที่ยวปล้นชาวบ้าน สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ฝรั่งเศสจึงยื่นมือส่งทหารเข้ามาช่วยสยามในการปราบฮ่อ แต่ผลพวงจากเหตุการณ์นี้เอง ทหารฝรั่งเศสเข้ามาแล้วทะลึ่งไม่ยอมถอนตัวออกไป แล้วอ้างอย่างดื้อ ๆ ตามสไตล์ว่า ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นของญวนมาก่อน หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็จะไม่ยอมเคลื่อนย้ายกองทหารออกไปเด็ดขาด เนื่องจากสยามต้องการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางทหารต่อกัน จึงต้องยอมเสียดินแดน สิบสองจุไท ซึ่งมีเนื้อที่ถึง ๘๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ให้กับฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ นับเป็นการเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสเป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่๕


หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม
  • การกระทำของประเทศใหญ่อย่างฝรั่งเศส ที่ทำต่อประเทศเล็กอย่างสยาม ได้ถูกจับตามองโดยประเทศมหาอำนาจอย่างเช่น อังกฤษ ซึ่งได้คัดค้านฝรั่งเศสมาตลอด แต่เมื่อถึงเวลาคับขัน อังกฤษก็กลับวางเฉย เป็นกลาง และไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยแต่อย่างใด เพราะอังกฤษเองก็ต้องการผลประโยชน์ และไม่อยากทะเลาะกับฝรั่งเศสให้เสียเวลา โดยมากการคัดค้านของอังกฤษในช่วงแรกมักจะ แสดงออกผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการ์ตูนล้อเลียน เช่นรูป “หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Punch ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ เพื่อล้อเลียนฝรั่งเศสว่าเป็น ชาติที่ดื้อดึง และคิดเอาแต่ได้ เหมือนหมาป่ากับลูกแกะในนิทานอีสป ที่มีเรื่องราวอยู่ว่า

หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม มีแม่น้ำโขง คั่นอยู่ตรงกลาง และเป็นชนวนเหตุ ของเรื่องทั้งหมด

  • “วันหนึ่ง ขณะที่หมาป่ากำลังดื่มน้ำอยู่ในลำธารอยู่นั้น มันก็เหลือบไปเห็นลูกแกะตัวหนึ่งกำลังดื่มน้ำอยู่เช่นกัน มันจึงวางแผนคิดจะกินลูกแกะเสียให้ได้ ว่าแล้วมันจึงเข้าไปหาเรื่องลูกแกะ และตีโพยตีพายว่า เจ้าลูกแกะน้อย เจ้ามากินน้ำในแม่น้ำนี้ ทำให้น้ำที่ข้ากินขุ่นเสียหมด เจ้าจะชดใช้ให้ข้าอย่างไร ? ลูกแกะน้อยก็ตอบว่า ท่านกินอยู่ต้นน้ำ ข้าต่างหากที่ต้องกินน้ำขุ่นๆ เพราะท่าน... หมาป่าจึงหาเรื่องอีกว่า เจ้าลูกแกะน้อยเมื่อหกเดือนก่อนเจ้าแอบนินทาว่าร้ายข้าใช่ไหม ? ลูกแกะจึงตอบว่า ข้าเพิ่งเกิดได้สามเดือนจะไปนินทาท่านได้อย่างไร... หมาป่าหงุดหงิดแล้วอ้างต่อว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าก็เคยแอบกินอาหารของข้าใช่ไหม ? ลูกแกะน้อยก็ตอบว่า ข้าได้กินแต่นมแม่ จะไปกินอาหารของท่านได้อย่างไร... หมาป่าจนปัญญา เพราะอ้างอย่างไรมันก็ผิดอยู่ดี และโดยไม่ต้องมีการเจรจาอันใดอีก หมาป่าจึงรีบกระโดดเข้าขย้ำลูกแกะลงท้อง อย่างสบายใจ เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของภาพ หมาป่าฝรั่งเศสผู้คิดเอาแต่ได้ กับลูกแกะสยามตัวน้อย ๆ ที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย”

หตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒

  • ในหนังสือ เรื่อง กรณีพิพาธระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ.๑๑๒ ของ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในเหตุการณ์นี้อย่างลึกซึ้ง ท่านได้เขียนเล่าถึงเหตุการณ์นี้อย่างละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบ หากผมจะนำเหตุการณ์นี้มาเล่าซ้ำอีกครั้ง เราก็คงจะไม่รู้สักทีว่า ทำไม “ริชลิว” จึงอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ แต่จะข้ามไปเลยเสียทีเดียว ท่านผู้อ่านอีกหลาย ๆ ท่านก็อาจจะไม่เข้าใจความเป็นมา และเป็นไป ดังนั้นผมจะอธิบายเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ อย่างพอเข้าใจ ดังนี้ครับ

ม.ปาวี วีรบุรุษของฝรั่งเศส สร้างวีรกรรม Mission Pavie
ทำให้เป็นที่เกลียดชังมากสำหรับชาวสยาม
ซึ่งแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเรียกว่า “อ้าย(ไอ้)ปาวี”

  • เมื่อฝรั่งเศสได้สิบสองจุไท ไปแล้ว ก็ดำเนินแผนการต่อทันที โดยส่งนาย ม.ปาวี (M. Auguste –Jean - Marie Pavie) อดีตนักสำรวจ ผู้มีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับ ประเทศสยาม พงศาวดารเขมร และลาว เป็นอย่างดี มาเป็นราชทูตประจำกรุงเทพฯ ทำให้รัฐบาลสยามมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก นายปาวียืนยันอย่างหนักแน่นว่า ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หรือลาวล้านช้าง เป็นกรรมสิทธิ์ของญวน ฝรั่งเศสจะไม่ยอมให้สยามยึดครองต่อไปเป็นอันขาด พร้อมกับใช้ นโยบายเรือปืน บีบบังคับสยาม โดยส่งเรือรบ ลูแตง (Le Lutin) เข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ตั้งแต่ เดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ เพื่อรอฟังคำยินยอมของสยาม หลังจากนั้นก็ได้ส่งทหารบุกรุกเข้ามาในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันขึ้นในวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ ที่ แก่งเจ๊ก เมืองคำม่วน ริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้ทหารฝ่ายสยามตาย ๖ คน ฝรั่งเศสตาย ๑๒ คน ในจำนวนนี้มีนายทหารชื่อ กรอสกูแรง(Grosgurin) รวมอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าการปะทะกันในครั้งนี้ จะมีการสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ด้วยเทคนิคการประชาสัมพันธ์ และการสร้างกระแสข่าวของฝรั่งเศส ทำให้ฝ่ายสยามกลายเป็นฝ่ายผิด และจะต้องเป็นผู้ชดใช้ต่อการตายของทหารฝรั่งเศส

ร้อยโท กรอสกูแรง ผู้เสียสละของฝรั่งเศส

  • เหตุการณ์ชักจะบานปลายไปกันใหญ่ เมื่อฝรั่งเศสปรับเปลี่ยนยุทธวิธีจากการใช้กำลังทางบก มาเป็นการใช้กำลังทางเรือซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของสยาม ในการนี้ฝรั่งเศสมีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น กำลังทหารเรือของสยามส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งขาดความพร้อม และประสบการณ์ ส่วนเรือรบของสยามก็มีเพียงลำเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอ ก็คือเรือพระที่นั่งมหาจักรี ส่วนลำอื่นล้วนเป็นเรือเก่า ที่หมดสภาพไปแล้ว อีกทั้งในสัญญาเกี่ยวกับการนำเรือรบเข้ามาในสยาม ที่ทำไว้ร่วมกัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๔ มีรายละเอียดไม่ตรงกัน คือในสัญญาฉบับภาษาไทยระบุว่า ฝรั่งเศสจะนำเรือเข้ามาได้ ต้อง “ขออนุญาต” สยามก่อน ส่วนในฉบับภาษาฝรั่งเศส ระบุว่า ฝรั่งเศสจะนำเรือเข้ามาได้ ต้อง “แจ้ง” สยามก่อน เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสยืนยันที่จะส่งเรือรบเข้ามาอีกสองลำ คือเรือแองคองสตังค์ (Inconstant) และเรือโคแมต (Comete) เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา
  • ข้างฝ่ายสยามไม่ยินยอม พร้อมกับเตรียมการป้องกันอย่างเร่งด่วน โดยมีพระยาชลยุทธโยธินทร์ “กัปตันริชริว” เป็นแกนหลักในการวางแผน ฝ่ายสยามดำเนินการปรับปรุงป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมผีเสื้อสมุทร ด้วยการติดตั้งปืนใหญ่อาร์มสตรอง ขนาด ๖ นิ้วรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งสั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ จัดวางกำลังทางบก และทางเรือเพื่อใช้ในการป้องกันประเทศ อีกทั้งวางเครื่องกีดขวางเช่น ตาข่าย และสนามทุ่นระเบิด ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ปืนเสือหมอบ หรือปืนใหญ่อาร์มสตรอง ที่จัดซื้อมาจากประเทศอังกฤษ สามารถยกตัวขึ้น-ลงจากหลุมเพื่อทำการยิงได้

  • แม้ว่าต่อมาฝ่ายสยามจะสามารถเกลี้ยกล่อม ให้ฝรั่งเศสระงับการส่งเรือรบสองลำเข้ากรุงเทพฯ ได้สำเร็จ แต่ไม่ทราบชัดว่าเป็นด้วยเล่ห์กล หรือเจตนาอันใดของนายปาวี ที่ไม่ยอมส่งโทรเลขด่วนอันสำคัญนั้นให้กับผู้บังคับการเรือรบอย่างจริงจัง แต่กลับใส่ไว้ในก้นถุงไปรษณีย์ที่มาส่งในช่วง เย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ปะปนกับจดหมายทั่วไปของทหารประจำเรือ แม้ว่าผู้บังคับการเรือจะได้รับการแจ้งเตือนปากเปล่า จากนายทหารอังกฤษแล้ว แต่เมื่อไม่มีหลักฐานคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร เขาจึงตัดสินใจนำเรือเข้าไป ตามแผนการที่ได้ตกลงกันก่อนหน้านี้แล้วกับนายปาวี ว่าจะ เข้าไปชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นเหนือใจกลางเมืองหลวงของสยาม ให้จงได้ ในโอกาสเฉลิมฉลองวันชาติฝรั่งเศส (๑๔ กรกฎาคม)

ปืนเสือหมอบกำลังทำการยิง เรือรบฝรั่งเศส โดยมีนายทหารต่างชาติเป็นผู้ควบคุมการยิง

  • วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เวลาประมาณ ๑๘๐๕เรือรบทั้งสองลำของฝรั่งเศสก็แล่นผ่านสันดอนเข้ามา โดยมีเรือสินค้า เจ.เบย์.เซย์. (Jean Baptist Say) เป็นเรือนำร่อง ปืนใหญ่ในป้อมพระจุลจอมเกล้ายิงเตือน แต่เรือฝรั่งเศสไม่ยอมหยุด ในที่สุดก็เกิดการยิงปะทะกัน เรือ เจ.เบย์.เซย์. ถูกยิงเกยตื้น แต่เรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมต ยังคงแล่นฝ่าดงกระสุน ผ่านเรือรบสยาม และเครื่องกีดขวางต่าง ๆ ต่อไปได้จนถึงกรุงเทพ และเทียบท่าหน้าสถานทูตฝรั่งเศส กัปตันริชลิว ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ การป้องกันประเทศจึงคิด จะนำเรือพระที่นั่งมหาจักรี พลางไฟมืดแล้วเข้าพุ่งชน เรือฝรั่งเศสให้จมลง แต่กระทรวงการต่างประเทศได้ห้ามไว้ และตกลงที่จะเจรจาอย่างสันติกับฝรั่งเศส

เรือรบฝรั่งเศส ๓ ลำ แองคองสตังค์ โคแมต และลูแตง จอดเรือกดดันสยามอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ริมท่าน้ำสี่พระยา
  • การเจรจาล่วงเลยไปไปหลายสิบวัน ก็ไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้ ฝรั่งเศสจึงยื่นคำขาดพร้อมกับยกกองเรือเข้ามาอีก ๙ ลำ เพื่อปิดปากอ่าวเตรียมการโจมตีสยาม อย่างที่เคยทำกับญวน เพื่อมิให้เหตุการณ์ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สยามจึงจำต้องยอมรับคำขาดของฝรั่งเศสดังนี้
  1. ให้สยามยอมรับว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้ เป็นของฝรั่งเศส
  2. ให้สยามถอนกำลังทหารออกจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงภายใน ๑ เดือน
  3. ให้เสียค่าปรับให้แก่ฝรั่งเศส ในกรณีทุ่งเชียงคำ และคำม่วน และกรณีที่ปากน้ำ
  4. ให้ลงโทษผู้กระทำผิด และจ่ายเงินให้กับครอบครัวของผู้เสียหายตามข้อ ๓
  5. ให้จ่ายค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศส จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์
  6. ให้จ่ายเงินมัดจำ ค่าเสียหายตามข้อ๓ ,๔ และ๕ จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นเงินเหรียญ โดยทันที ถ้าหากจ่ายไม่ได้ก็ต้องยอมให้ฝรั่งเศสเก็บภาษีในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ

ทหารฝรั่งเศสขนเงินเหรียญ จำนวนสามล้านฟรังค์ ไปไว้บน เรือลูแตงเพื่อเดินทางไปไซ่ง่อน ใช้เวลาในการขนเป็นวัน ๆ และนับกันไม่ไหวจนต้องใช้วิธีการชั่งเอา คิดเป็นน้ำหนักได้ถึง ๒๓ ตัน นี่คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใช้แลกกับความเป็น “ไท” ของสยามประเทศ
  • เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ทำให้เราเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสเป็นครั้งที่ ๓ คิดเป็นพื้นที่ ๑๔๓,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร แต่ผลพวงจากความสูญเสียยังไม่จบลงเท่านี้ เนื่องจากฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีเอาไว้ โดยอ้างว่า เพื่อเป็นหลักประกันว่าสยามจะปฏิบัติตามสัญญาครบทุกข้อ
  • แม้ว่าสยามจะปฏิบัติตามสัญญาได้ครบทุกข้อแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมย้ายออกไป จนเวลาผ่านไปนับสิบปี สยามจึงต้องขอแลกดินแดนจันทบุรี โดยยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามหลวงพระบาง รวมทั้ง มโนไพร และจำปาศักดิ์ ให้กับฝรั่งเศส เราจึงได้จันทบุรีคืนในปี พ.ศ.๒๔๔๗ แต่เสียดินแดนอีกครั้ง เป็นพื้นที่ ๖๒,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร
  • หมาป่าฝรั่งเศสยังใช้ลูกไม้เดิมคือ ถอยออกจากจันทบุรี แต่กลับไปยึดเมืองตราดแทน รวมทั้งเกาะทั้งหลายใต้แหลมลิงไปจนถึงเกาะกูด สยามจึงจำต้องขอแลกเอาดินแดนส่วนนี้คืน โดยยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๔๕๐ คิดเป็นเนื้อที่ ๕๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
  • กรณีพิพาท ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ นับได้ว่าเป็นหายนะสำหรับชนชาติสยาม อย่างแท้จริง การที่เราสามารถรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ อันเลวร้ายนี้ได้ ก็ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงหาทางออก และแก้ไขปัญหา ด้วยกุศโลบายต่างๆ เช่น นโยบายลู่ตามลม นโยบายถ่วงดุลอำนาจ และนโยบายซ้อนพันธมิตร ประเทศสยาม และประชาชนของพระองค์ จึงเป็นเพียงชาติเดียวในภูมิภาคนี้ที่รอดพ้นจากเงื้อมมือของชาติมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมทั้งหลายได้สำเร็จ


พระบรมรูปรัชกาลที่๕ และพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่๒ แห่งรัสเซีย ถ่าย ณ วังปีเตอร์ฮอฟ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๐ การที่สยาม และรัสเซียเป็นมิตรประเทศกันนั้น ได้สร้างความกดดันอย่างหนักให้กับฝรั่งเศส และทำให้การรุกของฝรั่งเศสต้องหยุดชะงักลง เป็นหนึ่งในกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Comments