"ริชลิว" ผู้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังค์ ตอนที่ ๔

ริชลิว

การเตรียมพร้อมอันหละหลวม

  • การเตรียมการป้องกันประเทศที่ปากน้ำนั้น กัปตันริชลิวเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้วางแผนป้องกัน และเป็นผู้อำนวยการรบที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า โดยมีการวางกำลัง ตั้งรับเรือของฝรั่งเศสเป็นอย่างดี ทั้งกำลังทางเรือ สิ่งกีดขวางใต้น้ำ ทุ่นระเบิด และปืนใหญ่บนป้อม แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งเรือของฝรั่งเศสได้ ผลการป้องกันของสยามออกมาในรูปของการป้องกันที่ขาดประสิทธิภาพอย่างยิ่ง เช่น กำลังทางเรือที่นำมาใช้ล้วนขาดประสิทธิภาพในการรบ สิ่งกีดขวางใต้น้ำมีจำนวนไม่เพียงพอ ทุ่นระเบิดที่วางไว้ ๑๖ ลูก ก็ระเบิดใช้เพียง ๑ ลูก ส่วนปืนใหญ่อาร์มสตรองอันทันสมัย ก็ไม่ได้แสดงอำนาจการยิงที่สมราคาของมัน
  • เมื่อเปรียบเทียบกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ของทั้งสองฝ่ายในเหตุการณ์ที่ปากน้ำแล้ว ฝ่ายสยามเป็นฝ่ายได้เปรียบมาก สาระสำคัญในความพ่ายแพ้ของสยามในครั้งนี้จึงอยู่ที่ ความพร้อม และความสามารถของกำลังพลที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายทหารต่างชาติ
  • บันทึกเหตุการณ์กรณีพิพาท ร.ศ.๑๑๒ มีอยู่หลายฉบับ ทั้งของสยาม ฝรั่งเศส และชาติเป็นกลาง ในบันทึกของทั่งสยาม และฝรั่งเศส เนื้อหามักจะเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายตน เราจึงต้องนำบันทึกของชาติที่เป็นกลางมาศึกษาประกอบ ซึ่งในบันทึกของ นายเฮนรี นอร์แมน นักสำรวจชาวอังกฤษ จากหนังสือชื่อ Peoples and politics of the Far East ได้กล่าวถึงสยามอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเกรงใจกันหลายต่อหลายครั้ง จนบางทีอาจจะดูเกินเลยไปด้วยซ้ำ เช่น
  • การวิจารณ์เรื่องอาวุธปืนของกองทหารปืนใหญ่ มีใจความว่า ที่เล็งเป้าทำด้วยทองเหลืองถูกขโมยไปจำนำภายในเวลา ๒ อาทิตย์ที่มาถึง และตามคืนไม่ได้ ส่วนดินปืนกับปลอกกระสุนก็อยู่กันคนละที่ และไม่มีใครรู้ว่าจะใส่ดินปืนในปลอกกระสุนได้อย่างไร
  • นายนอร์แมนยังเผาต่ออีกว่า ทหารมาฝึกตามสะดวก แล้วหายหน้าไปสัปดาห์ละหลายโหล และบ่นหรือเริ่มก่อกวนนายทหารที่พยายามสร้างวินัยในกอง และหลายคนไม่เคยยิงปืนไรเฟิลที่ตนถือ ตามด้วยลองจินตนาการดูสิ โรงเรียนนายทหารที่มีอาคาร และการจัดการอันน่าเกรงขาม มีครูฝึกชาวยุโรปสี่หรือห้านายที่มีอำนาจจำกัด เด็กหนุ่มชาวสยามได้พักอาศัยอย่างสะดวกสบาย ได้รับการเลี้ยงดู และรับเงินเดือน เดือนละ ๓๐ ชิลลิง เพื่อให้สวมเครื่องแบบ และเล่นในโรงเรียนที่ไม่มีการฝึกอบรมใดๆและยังสรุปนิสัยของชาวสยามอีกว่า สยามรับวิธีการของฝรั่งมา โดยไม่เอาจิตวิญญาณของฝรั่งติดมาด้วย และ จริง ๆ แล้ว ไม่มีคำว่า วินัย ในภาษาสยาม
  • สำหรับเหตุการณ์ที่ปากน้ำ นายนอร์แมนได้วิจารณ์เอาไว้ว่า ผู้บังคับการริเชอลิเออ ทำหน้าที่บัญชาการที่ป้อมปืน ในช่วงวิกฤตนั้น เขาต้องวิ่งจากปืนกระบอกหนึ่งไปยังอีกกระบอกหนึ่งเพื่อยิงฝ่ายตรงข้ามด้วยปืนทีละกระบอก คงไม่จำเป็นต้องบอกว่า ยิงไม่ถูกอะไรสักอย่าง จากนั้นเขาก็ขึ้นเรือลำเล็กข้ามแม่น้ำ แล้วกลับบางกอกด้วยรถไฟเที่ยวพิเศษและ เมื่อทดสอบการยิงปืนเหล่านี้ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว ๒-๓ วันก่อนหน้า ปืน ๕ ใน ๖ กระบอกยิงไม่ออก แต่เหตุการณ์นี้ก็มิได้ทำให้ความมั่นใจของฝ่ายสยามต่อประสิทธิภาพในการป้องกันตนเองลดลงเลย

ตามคำกล่าว ของนายเฮนรี นอร์แมน การทดสอบปืนเสือหมอบของเรา ต่อหน้าพระพักตร์ ปืน ๕ ใน ๖ กระบอก ยิงไม่ออก...!?

  • การวิพากษ์วิจารณ์ของ นายนอร์แมน ที่มีต่อสยามนั้นดูรุนแรง และไม่ไว้หน้าชาวสยามเลยแม้แต่น้อย จนนักวิจารณ์ชาวต่างชาติ (ที่เป็นฝ่ายสยาม) ท่านอื่น ๆ เห็นว่านายนอร์แมนแต่งเรื่องจนสนุกอย่างเกินเลย แต่ก็ตามคำโบราณอีกครั้ง ที่ว่า ไม่มีมูล สุนัขไม่ถ่ายดังนั้น เราจะโทษใครไม่ได้เลย นอกจาก ลักษณะนิสัยอันรักสงบ สะดวก สบาย ของคนไทย ที่ว่างเว้นจากการทำศึก มานาน และ การฝึกอบรมที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของนายทหารต่างชาติอย่าง กัปตันริชลิว

ความคิดอันพิเรนทร์

  • อีกเรื่องที่ควรจะนำมากล่าวถึง ก็คือความคิดอันพิเรนทร์ ของกัปตันริชลิว แต่ก่อนที่เราจะกล่าวถึงความคิดนั้น เรามาดูถึงที่มาของคำว่า พิเรนทร์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสมัย ร.ศ.๑๑๒ และก็เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือ ทำลายเรือรบของฝรั่งเศส
  • เรื่องมีอยู่ว่า มีท่านพระตำรวจหลวงผู้หนึ่ง ราชทินนามว่า พระพิเรนทรเทพ มีความคิดจะจัดนักดำน้ำไปเจาะรูใต้ท้องเรือรบฝรั่งเศสให้จมลง ท่านจึงฝึกหัดบ่าวไพร่ และอาสาสมัคร ให้ดำน้ำในคลองหน้าบ้านของท่านทุกวัน แต่บางคนดำน้ำอยู่ได้ไม่นานก็โผล่ขึ้นมา ท่านจึงต้องใช้ไม้ถ่อคอยค้ำคอไว้ไม่ให้โผล่หัวขึ้นมาเร็วเกินไป บังเอิญมีอาสาสมัครคนหนึ่งถูกกดหัวจนสำลักน้ำตายเสียก่อน ความคิดที่ใช้นักดำน้ำจึงต้องล้มเลิกไป ชาวบ้านจึงพากันเรียกการกระทำของท่านอย่างสนุกปากว่า เล่นอย่างพิเรนทร์

  • ส่วนกัปตันริชลิว มีวิธีการที่ลงทุนสูงกว่านั้น คือคิดจะใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี พรางไฟมืดแล้วพุ่งชนเรือฝรั่งเศสให้จม แต่โชคดีที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจึงต้องล้มเลิกไป ลองคิดดูว่าการใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมใจของชาวสยามพุ่งเข้าชนเรือฝรั่งเศส เรือพระที่นั่งจะต้องได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก และเราจะไม่มีเรือรบอันทันสมัยเหลืออยู่เลย เรือของฝรั่งเศสก็มีอยู่ถึงสามลำ การพุ่งชนอาจจะทำลายได้เพียง ๑-๒ ลำ และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ แค่เพียง กรอสกูแรง นายทหารยศร้อยโทของฝรั่งเศสเสียชีวิต ฝรั่งเศสยังเรียกร้องต่างๆ นานา นี่ถ้าเรือรบจมลง คงเป็นเหตุให้ฝรั่งเศสเรียกร้องเอาอย่างมหาศาล เพราะฝรั่งเศสเองก็พร้อมที่จะทำสงครามกับสยามอยู่ทุเมื่อ ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากเหตุการณ์ที่ปากน้ำผ่านไปไม่กี่วัน ฝรั่งเศสก็ได้ส่งเรือรบเข้ามาปิดอ่าวไทย ถึง ๙ ลำ ไหนเลยที่ชาติเล็ก ๆอย่างสยามจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้ไปได้ หากต้องทำสงครามกับฝรั่งเศส

เรือพระที่นั่งมหาจักรี เกือบจะได้พุ่งชนเรือรบฝรั่งเศส และ
สยาม เกือบจะตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เพราะ ความพิเรนทร์


  • ความคิดของกัปตันริชลิว จึงจัดได้ว่าเป็น ความคิดพิเรนทร์ อันคลาสสิค และเป็นโชคดีของสยามที่มันไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง.....

อย่างไรก็ตาม

  • จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า " ในเมืองเราเวลานี้ไม่ขัดสนอันใดยิ่งกว่าคน การเจริญอันใดจะเป็นไปไม่ได้เร็วก็เพราะเรื่องคนนี้อย่างเดียว เพราะเหตุขัดสนเช่นนี้จึงต้องจำใช้ฝรั่งในที่ซึ่งคนเรายังไม่มีความรู้และความสามารถพอ แต่การใช้ฝรั่งนั้นไม่ใช่เป็นการง่าย แลก็รู้ชัดเจนอยู่ในใจด้วยกันว่า เขาเป็นคนต่างชาติภาษา จะซื่อตรงจงรักภักดีอะไรต่อเราหนักหนา ก็ชั่วแต่มาหาทรัพย์กลับไปบ้าน เมื่อจะว่าเช่นนี้ก็ไม่สู้เปนยุติธรรมแท้ เพราะบางคนซึ่งอัธยาศัยดี มีความรู้ อยากจะได้ชื่อเสียงที่ดี ฤามีความละอาย ฤาอยากจะอยู่ทำการให้ยืดยืนไปเขาก็ทำดีต่อเรามาก ๆ อยู่บ้าง แต่อย่างไร ๆ ก็คงต้องนับว่าเป็นเพื่อนกินไม่ใช่เป็นเพื่อนตาย "
  • เห็นได้ว่าชาวต่างชาติ ที่เข้ามารับราชการให้สยามนั้นมีทั้งที่ทำเพื่อผลประโยชน์ และที่ทำด้วยความจงรักภักดี แม้ว่ากัปตันริชลิวจะมีผลประโยชน์ในธุรกิจอยู่บ้าง แต่จากการที่ท่านได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นถึงผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งอยู่หลายครั้ง เป็นผู้ริเริ่มกิจการใหม่ ๆ หลายโครงการ และรับราชการเป็นเวลารวมทั้งสิ้น ๒๖ ปี ซึ่งนับว่านานมากสำหรับชาวต่างชาติ ด้วยความจงรักภักดี และความเป็นที่น่าไว้วางใจของ กัปตันริชริว นี่เอง ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เพิ่มเงินบำนาญจาก ๘,๐๐๐ บาทต่อปี เป็น ๑๕,๐๐๐ บาทต่อปี

  • กัปตันริชลิว ลาออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ในขณะที่ยังเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อลาออกจากราชการไปแล้ว กัปตันริชลิวได้เดินทางกลับประเทศเดนมาร์ก แต่ก็ยังคอยติดต่อ ช่วยเหลือ และสนับสนุนกิจการของทหารเรือสยามอยู่เสมอ เช่นการคัดเลือกชาวต่างชาติให้มาช่วยราชการตามที่สยามร้องขอ หรือการสนับสนุน ประสานงาน ช่วยเหลือ ดูแลนักเรียนนายเรือที่ไปศึกษาในต่างประเทศ นอกจากนี้เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ กัปตันริชลิว ก็ได้คอยเป็นธุระ และรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ซึ่งก็ได้มีบทบาทที่สำคัญเช่น การจัดเตรียมการเดินทาง และอุปกรณ์ในการสลักพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. ที่จุดเหนือสุดของยุโรป นอร์ธเคป ประเทศนอร์เวย์

กัปตันริชลิว (กลางภาพ) เป็นผู้จัดเตรียมอุปกรณ์การสลักพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. ที่แหลมเหนือ นอร์ธเคป ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง และศิลาก้อนนี้ก็ยังคงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่นั่น ในพิพิธภัณท์


  • กัปตันริชลิว กลับไปใช้ชีวิตในเดนมาร์กได้ ๓๐ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔ สิริอายุรวม ๗๙ ปี แม้ว่าท่านจะลาออกจากราชการไปเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่ข่าวคราวการถึงแก่อนิจกรรมของท่านก็ยังได้สร้างอาลัยให้กับชาวสยาม และกองทัพเรือเป็นอย่างยิ่ง
  • เบื้องหลังราชบัลลังก์ของ คาดินัลริชลิว ในฝรั่งเศสอาจจะเป็นเรื่องของความทะเยอทะยาน แต่เบื้องหลังราชบัลลังก์ของ กัปตันริชลิว ในประเทศสยามดูจะเป็นเรื่องของความจงรักภักดี และการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ และถึงแม้เราจะไม่อาจสรุปได้ว่า ลึก ๆ แล้ว กัปตันริชลิว คิดอย่างไรกับสยามในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ แต่ในท้ายที่สุด เราก็ได้ประจักษ์แล้วว่า ท่านเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพเรือ และประเทศชาติ ทั้งในขณะที่ยังรับราชการ และเมื่อลาออกไปแล้ว

  • กัปตันริชลิว หรือ พระยาชลยุทธโยธินทร์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ จึงเป็นผู้ที่สมควรได้รับการยกย่อง ชื่อเสียง และผลงานของท่านจะยังคงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของราชนาวีไทยตราบนานเท่านาน ในฐานะชาวต่างชาติที่จงรักภักดี และอุทิศตนอย่างสูงสุด

อ้างอิง

- แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี และ สวัสดิ์ จันทนี, นาวาเอก. กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ.๑๑๒. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๙.

- ไกรฤกษ์ นานา. สยามกู้อิสรภาพตนเอง ทางออกและวิธีแก้ปัญหาบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐

- Cardinal Richelieu: Biography and Much More from Answers.com, http://www.answers.com/main/ntquery?s=Cardinal+Richelieu&gwp=13

Comments