กระบวนพยุหยาตราชลมารค



กระบวนพยุหยาตราชลมารค

กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในปัจจุบันหมายถึง กระบวนแห่เสด็จพรราชดำเนินโดยชลวิถีด้วยกระบวนเรือพระราช พิธี ตามเค้าของการยาตรากระบวนทัพเรือแต่โบราณ

เรือพระราชพิธีที่ใช้ในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ แท้จริงก็คือเรือรบที่โบราณท่านใช้ในลำแม่น้ำ ทางกองทัพเรือได้เขียนคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง เรือรบสมัยโบราณของไทยไว้ใน "ประวัติย่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" มีความตอนหนึ่งว่า "เรือรบสมัยโบราณของไทยมี ๒ ประเภท คือ เรือรบในลำแม่น้ำกับเรือรบทางทะเล เรือเหล่านี้มีรูปร่างและขนาดต่างๆ กัน เรือรบในลำแม่น้ำมีมาก่อนเรือรบทางทะเลมีขึ้นภายหลัง เพราะศึกสงครามทางทะเลมีน้อย ฉะนั้นเรือรบในลำแม่น้ำจึงมีความสำคัญมากกว่าเรือรบทางทะเล แต่ในสมัยปัจจุบันตรงกันข้าม เรือรบทางทะเลเท่านั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนเรือรบในลำแม่น้ำพ้นสมัยใช้เป็นเรือรบ จึงกลายมาเป็นเรือสำหรับประกอบการพระราชพิธี"


ภาพแขียนแสดงยุทธนาวี ในรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แต่โบราณ สมัยเมื่อยังใช้เรือรบในลำแม่น้ำเป็นกำลังสำคัญในการรบนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ จะเสด็จพระราชดำเนินโดยชลวิถีไปในการพระราชพิธีใด อันมุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพภายใต้พระบารมี เช่นพระราชดำเนินเลียบพระนครในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือจะต้องเสด็จพระราชดำเนินรอนแรมไปทางไกล อันอาจจะมีไพรีจู่โจมกลางทางได้ ก็จะจัดกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน เป็นกระบวนพยุหยาตราในทำนองเสด็จกรีฑาทัพ เรือ แต่ภายหลังได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตรา ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ด้วย

ภาพเขียนกระบวนพยุหยาตราชลมารค
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) เขียนโดยชาวฝรั่งเศส

มูลเหตุที่จะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตรานั้น ก็เนื่องมาแต่ในยามที่ว่างศึกสงคราม ทางราชการก็จำเป็นที่จะต้อง กะเกณฑ์ผู้คนมาฝึกการรบทางเรืออยู่เป็นประจำ เผื่อเกิดศึกเสือเหนือใต้จ ะได้ระดมผู้คนที่ฝึกแล้วมาใช้ในการรบได้ทันท่วงที การฝึกพลสำหรับเรือรบทางแม่น้ำนั้น มักกำหนดกระทำกันในฤดูน้ำ เพราะนอกจากจะเป็นการสะดวกแก่การฝึกทางเรือแล้ว ยังตรงกับฤดูที่ราษฎรว่างจากการทำไร่ไถนา การระดมผู้คนมาฝึกในระยะนี้ จึงไม่ทำให้กระทบกระเทือนอาชีพราษฎรมากนัก ในระยะเวลาที่มีการเกณฑ์ฝึกในฤดูน้ำนี้ ก็ประจวบกับเทศกาลทอดกฐินพอดี ดังนั้น เพื่อมิให้การฝึกซ้อมไพร่พลเสียเวลาไปเปล่าๆ พระมหากษัตริย์จึงได้ทรงพระราชดำริ ที่จะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ตามพระอารามหลวงริมน้ำโดยกระบวนเรือรบลำน้ำ ตั้งกระบวนเป็นกระบวนพยุหยาตราทำนองเสด็จกรีฑาทัพเรือ ครั้นเมื่อได้กระทำไปแล้ว ก็เป็นที่สบอัธยาศัยของชุมชนส่วนใหญ่ซึ่งถือว่าการ ทอดกฐินเป็นกิจสำคัญในทางพระศาสนา ส่วนบรรดาไพร่พลที่ถูกเกณฑ์มาฝึกเตรียมรบ เมื่อได้โอกาสเข้ากระบวนเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ก็ยินดีปรีดาสนุก สนานบรรเทิงเพราะได้ร่วมงานพระราชกุศล ดังนั้น การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือรบในลำแม่น้ำนี้ จึงกลายเป็นที่นิยมและกระทำสืบเนื่องกันเรื่อยมา แม้จะหมดสมัยที่จะใช้เรือเหล่านั้นเป็นเรือรบแล้ว ก็ยังหาได้เลิกกระบวนเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยเรือรบในลำแม่น้ำ ของโบราณไม่

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ของระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ที่แสดงให้เห็นภาพเรือพระราชพิธีในเรื่องรามเกียรติ์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็ได้มีกฐินพยุหยาตราชลมารคมาแต่รัชกาลที่ ๑ แม้ว่าเรือใช้รบลำแม่น้ำของไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะได้ถูกพม่าเผาเสียหมด เมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย แต่เมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้สร้างขึ้นใหม่เพื่อให้เพียงพอแก่การที่จะใช้ในการรบ และเมื่อว่างการรบก็ใช้จัดเป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ในการพระราชพิธีต่างๆ กฐินพยุหยาตราชลมารคในสมมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น นอกจากจะมีกระบวนหลวง ซึ่งจัดเป็นกระบวนพยุหยาตรากรีฑาทัพเรืออย่างโบราณแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาราษฎรที่มีฐานะ ยังได้ตกแต่งเรือด้วยลักษณะต่างๆ เช่น ทำเป็นจรเข้ เป็นหอย เป็นปลา และเป็นสัตว์น้ำต่างๆ มาสมทบเข้ากระบวน เป็นกระบวนนำและกระบวนตามกระบวนหลวง เรือบางลำก็มีวงปี่พาทย์และการเล่นต่างๆ ไปในเรือด้วย ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเรือเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ เสด็จไปถวายพระกฐิน มีเรือที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท แต่งเป็นรูปต่างๆ เข้ากระบวนเช่นในรัชกาลก่อน ในรัชกาลต่อมาก็ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตรา เป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ บ้าง อย่างน้อยบ้าง ไปถวายผ้าพระกฐินสืบต่อกันเรื่อยมา แม้ต่อมาจะพ้นยุคพ้นสมัยที่จะใช้เรือรบทางแม่น้ำในการรบแล้ว ก็ยังคงรักษาเรือเหล่านั้นไว้สำหรับการพระราชพิธี เช่นเสด็จเลียบพระนคร และเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินโดยชลวิถีสืบต่อมา เป็นการรักษาซึ่งจารีตประเพณีอันดีงามของชาติไทยไว้มิให้เสื่อมสูญ

ต่อมาเมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ สถานการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จประทับอยู่ในพระราชอาณาจักร การถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตรา จึงมีอันต้องระงับไปเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี แต่ก็เป็นบุญเหลือเกิน ที่จารีตประเพณีอันดีงามนี้ไม่ถึงกับต้องสูญสลาย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นใหม่ เริ่มแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา

อะไรเป็นเหตุดลพระราชหฤทัย และทรงมุ่งหมายอย่างไรในการฟื้นฟูจารีตประเพณีที่ กล่าวนี้ พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ สมัยยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวัง ได้บรรยายให้ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศฟัง เมื่อ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๑๙ ว่า "เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่ โรงเก็บเรือพระราชพิธี ในคลองบางกอกน้อย ทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงทรงพระราชดำริว่าถ้าจะโปรดให้มีการฟื้นฟูประเพณี การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้น ก็ดูจะไม่เป็นการสิ้นเปลืองอะไรนัก เพราะคนก็ใช้กำลังทหารเรือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทำขึ้นครั้งเดียวก็ใช้ได้ นานปี ส่วนประโยชน์ที่จะพึงได้รับนั้นมีอยู่มากมายและหลายทางด้วยกัน เช่นเรือพระราชพิธีต่างๆ อันสวยงามและทรงคุณค่าในทางศิลปอย่างยิ่งนั้น ก็จะได้รับการดูแลรักษาและบูรณะซ่อมแซมให้ดีอยู่เสมอ เป็นการรักษาสมบัติอันมีค่าของชาติให้มีอายุยืนยาวออกไป ทั้งจะได้เป็นการฟื้นฟูขนบประเพณีอันดี ที่บรรพชนของเราได้กระทำมาแล้วแต่ปาง ก่อน ให้ดำรงคงอยู่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติ เป็นการบำรุงขวัญและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจของคนไทย ทั้งยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาติไทยที่มีแต่โบราณกาล ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวต่างประเทศอยู่ตลอดกาลด้วย"

ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ โดยแท้ พสกนิกรไทยรุ่นหลังนี้จึงมีโอกาสได้ชมกระบวนพยุหยาตราชลมารค ตามโบราณราชประเพณีด้วยความภาคภูมิใจ

http://www.pantown.com/data/10219/album17/full/2006-06-07-150346.jpg

กระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ มีวิธีจัดกระบวนเป็น ๒ กระบวน เรียกว่า "กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค" กระบวนหนึ่ง และ "กระพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค" อีกกระบวนหนึ่งแต่โบราณ ท่านจัดลักษณะกระบวนทั่งสองนี้แตกต่างกันอย่างไร กระบวนใดใช้เรือกี่ลำ เรืออะไรบ้าง ยังไม่มีใครสามารถที่จะค้นคว้าหาหลักฐานมารวบรวมไว้ให้สมบูรณ์ได้ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯกรมพระนคร สวรรควรพินิต ครั้งทรงทำหน้าที่แทนเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ อยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพยายามที่จะค้นคว้าหาหลักฐานเพื่อวางเป็นระเบียบ ปฏิบัติไว้สำหรับชนรุ่นหลัง ก็ไม่อาจทรงกระทำได้ ดังนั้นเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๐ จึงได้ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลผ่านทางราชเลขาธิการ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต วางระเบียบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีเสียใหม่ โดยจัดรูปกระบวนเข้าหาจำนวนเรือที่มีอยู่เป็นสำคัญ ยึดหลักโบราณราชประเพณีแต่เพียงอนุโลม ข้อความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์มีดังนี้

"ก็แหละการจัดขบวนเสด็จพระราชดำเนิน อันกระทรวงทหารเรือได้ปฏิบัติกันมานั้น อาศัยหลักความรู้และความทรงจำแบบแผนโบราณราชประเพณี จะมีลายลักษณ์อักษรที่จะสอบค้นเป็นหลักฐานได้ ก็แต่น้อยและความทรงจำนั้นย่อม มีทางคลาดเคลื่อนโต้แย้งกันอยู่เป็นประการต่างๆ ทั้งจำนวนเรือที่คงมีอยู่ก็ไม่เปิดช่องให้จัดเต็มรูปแบบ อย่างราชประเพณี โบราณทีเดียวได้ ย่อมได้สับเปลี่ยนลดหย่อนอนุโลมกันมาแล้วโดยลำดับ ข้าพเจ้าเห็นว่า บัดนี้ควรจะวางระเบียบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีลงเสียให้แน่ นอนอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เป็นที่ปราศจากสงสัย แก่ผู้ซึ่งมีหน้าที่ฉลองพระเดชพระคุณในการนี้ สืบไป และรูปขบวนนั้นควรจัดเข้าหาจำนวนเรือที่คงมีอยู่เป็นประมาณ ยึดหลักโบราณราชประเพณีแต่โดยอนุโลม ทั้งควรคำนึงถึงการที่จะให้ได้นำเรือที่มีอยู่ มาหมุนเวียนใช้โดยโอกาสทั่ว ถึงกันยิ่งขึ้น เพราะเรือเก่าเก็บเป็นทางแก่ความชำรุดยิ่งกว่าเรือใช้ ข้าพเจ้าจึงได้ลองกะขบวนต่างๆ ขึ้นโดยนัยดังกล่าวแล้ว ดังได้แนบมานี้ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุมัติเป็นประการใดแล้ว ก็จะให้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติราชการสืบไป"

http://school.obec.go.th/thai_rajpracha30/Images2/pic1.jpg

กระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลปัจจุบัน

ภายหลังจากที่ได้มีกระบวนพยุหยาตราชลมารค เมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว จากนั้นมาก็ไม่เคยมี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางราชการได้จัดงานฉลองพระพุทธศตวรรษขึ้นในงานนี้ ได้มีการจัดกระบวนเรือพระ ราชพิธี อัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เป็นการเฉลิมฉลองและระลึกในพระตรัยรัตนาธิคุณ กระบวนครั้งนั้นเรียกกันว่า กระบวนพยุหยาตรา การจัดรูปกระบวนเรือคล้ายรูปกระบวนพยุหยาตราน้อย แต่ก็ไม่ครบถ้วน ทั้งนี้เนื่องจากเรือพระราชพิธีได้ชำรุดเสียหายไปตามสภาพบ้าง และชำรุดเพราะถูกระเบิดจากเครื่องบินครั้งสงครามมหาอาเซียบูรพาบ้าง ไม่มีเรือพอจะจัดให้เต็มรูปริ้วกระบวนตามแบบฉบับที่มีมาแต่โบราณ หรือที่กำหนดไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้

ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค สำหนับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ตามราชประเพณีที่เคยมีมาแต่เก่าก่อน ก็ไม่อาจจัดกระบวนให้ครบถ้วน เป็นกระบวนให้ครบถ้วนเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ หรือพยุหยาตราน้อย ได้เช่นกัน ครั้งนั้นมีเรือดั้งเหลือเพียง ๙ คู่ เรือรูปสัตว์ก็เหลือเพียง ๒ คู่ คือเรือพาสีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมืองคู่หนึ่ง และเรืออสุรวายุภักษ์ อสุรปักษา อีกคู่หนึ่ง เรือกระบี่และเรือครุฑไม่มี เรือคู่ชักก็ไม่มี เลยเอาเรืออสุรมาเป็นเรือคู่ชัก เอาเรือดั้งทองและเรือพญาวรนรเสริมริ้วเรือดั้งให้ครบ ๑๑ คู่ อย่างไรก็ตาม ทางราชการก็ได้เห็นคล้อยตามกระแสพระราชดำริ ว่าควรฟื้นฟูประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตรา ชลมารคขึ้น เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ให้ดำรงอยู่เป็นสัญลักษณ์ของชาติและ เป็นศรีแก่ประเทศสืบไป ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอันมีกองทัพเรือและกรมศิลปากร จึงได้ดำเนินการต่อเรือพระราชพิธีเพิ่มขึ้น ทั้งประเภทเรือดั้ง เรือทองขวานฟ้า ทองบ้าบิ่น เรือครุฑ เรือกระบี่ และเรือเอกชัย บางลำก็ต่อใหม่ทั้งลำ บางลำก็ต่อแต่ลำเรือ ใช้หัวเรือเดิมที่ตัดเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์มาซ่อม แล้วสวมใส่เข้ากับที่ต่อใหม่จนกลายเป็นเรือที่สมบูรณ์ และครบถ้วน พร้อมที่จะจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารค ทั้งใหญ่และน้อยตามโบราณราชประเพณีได้ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลได้ดำริที่จะมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในเดือนเมษายน ๒๕๒๕ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทาน ให้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบวงสรวง สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า โดยกระบวนยุหยาตราใหญ่ชลมารค ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี และมีความภาคภูมิใจกับมรดกทางวัฒนธรรม ที่บรรพบุรุษท่านได้สร้างสมและรักษา ไว้เป็นทอดๆ จนกระทั่งตกมาเป็นสมบัติอันหาค่ามิได้ของคนไทยในปัจจุบันนี้

http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/575/7575/images/bt.jpg

การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ได้เตรียมจัดริ้วกระบวนเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ เช่นเมื่องครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากการเสด็จเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า คราวฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่เพิ่มเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชทอดบุษบกบัลลังก์ เชิญพระชัยหลังช้างขึ้นมาอีกลำหนึ่ง แต่ครั้นได้มีการซ้อมใหญ่ริ้วกระบวนดังกล่าวแล้ว ได้มีผู้นำความกราบบังคมทูลให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า กระบวนพยุหยาตราใหญ่ชลมารค ที่ซ้อมเตรียมถวายให้เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน นั้น มองดูไม่งดงามเป็นสง่าเท่าที่ควร เพราะเรือพระที่นั่งไปอยู่ท้ายกระบวนมีเรือตามแต่เรือกรมวัง ๑ ลำ กับเรือแซงอีก ๑ ลำเท่านั้น ในสมัยโบราณท่านจัดเช่นนี้ เพราะมีเรือพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จเป็นกระบวนหลังอีกหลายลำ จึงไม่เห็นไปว่าเรือพระที่นั่งไปรั้งท้ายกระบวน กาลบัดนี้ไม่มีเรือพระบรมวงศานุวงศ์ตามเป็นกระบวนหลัง เรือพระที่นั่งจึงกลายเป็นกระบวนหลังไม่งดงาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นพ้องตามคำกราบบังคมทูลนั้นแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงพระดำริแก้ไขจัดรูปกระบวนเรือเสียใหม่ให้พ้องข้อตำหนิดังกล่าว

http://www.nsru.ac.th/oldnsru/comcenter1/60th/images/backgroud13.jpg

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณ โดยประทานข้อคิดเห็นในการปรับปรุงกระบวนพยุหยาตราใหญ่ชลมารค ดังนี้

๑. ถอนเรือประตูน้ำ ซึ่งเดิมกำหนดใช้เรือดั้งทอง คือเรือทองขวานฟ้าและทองบ้าบิ่น แล่นนำอยู่สายนอกนั้น ลงมาเป็นกระบวนหลังสายใน แนวเดียวกับเรือรูปสัตว์ในกระบวนหน้า

๒. จัดเรือดั้งคู่ ๑๑ ขึ้นไปเป็นเรือประตูหน้า แต่ให้แล่นนำอยู่สายใน แนวเดียวกับเรือพิฆาตและเรือรูปสัตว์

๓. กระบวนหน้าสายนอก ซึ่งริ้วกระบวนเดิมเป็นเรือดั้ง ๑๑ คู่นั้น ให้ลดลงคงเหลือ เพียง ๖ คู่ และมีเรือรูปสัตว์ ๔ คู่เป็นเรือสายใน

๔. ถอนเรือดั้ง คู่ ๗ - ๘ - ๙ และ ๑๐ รวม ๔ คู่ ลงมาเป็นเรือกระบวนหลังริ้วนอก

การจัดกระบวนเรือตามพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทำให้รูปกระบวนงดงามขึ้น คือมีทั้งกระบวนหน้า กระบวนเรือพระที่นั่ง กระบวนแซงเสด็จ และกระบวนหลัง เป็นลักษณะดุจดาวล้อมเดือน คือมีเรือพระที่นั่งเป็นเดือน เรืออื่นในกระบวนหน้า ในกระบวนแซง และในกระบวนหลังเป็นดาวล้อมอยู่ทุกด้าน

ริ้วกระบวนตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์นี้ ผู้บัญชาการทหารเรือซึ่งเข้าเฝ้ารับฟังกระแสพระราชดำริ รับว่าจะจัดสนองพระมหากรุณาธิคุณได้ทันงาน ดังนั้นริ้วกระบวนพยุหยาตราใหญ่ชลมารค ในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี จึงเป็นไปอีกแบบหนึ่งผิดแผกกว่าที่ได้เคยมีมาแล้วแต่กาลก่อน เพื่อที่จะให้ท่านผู้สนใจศึกษา เกี่ยวกับการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ได้ศึกษาริ้วกระบวนใหม่นี้ด้วยความเข้าใจดีขึ้น

Comments