กำเนิดท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด

 พล อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ รมช.กลาโหม ฟังคำปราศัยอัครราชทูตสหรัฐ นอร์แมน บี.ฮานนาห์ ก่อนกล่าวตอบในพิธีเปิดท่าเทียบเรือที่สัตหีบ

     อ่าวสัตหีบ น่านน้ำอันสวยสดงดงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นที่จอดเรือของราชนาวีไทยมาช้านาน บัดนี้ได้มีท่าเทียบเรือน้ำลึกเกิดขึ้นใหม่ท่าหนึ่งแล้ว ท่านี้เป็นหนึ่งในสี่ท่าที่จะช่วยประกันความปลอดภัยจากการรุกรานของข้าศึก ภายนอกประเทศได้อย่างดียิ่ง และจะอำนวยประโยชน์ในทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศด้วยอย่างใหญ่หลวง
     ท่าเทียบเรือที่กล่าวถึงนี้อยู่ในบริเวณจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ และอีกสามท่าก็อยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นท่าที่สร้างขึ้นตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐว่าด้วยการปรับปรุง การส่งกำลังบำรุงในประเทศไทยเมื่อ ๑๙ มีนาคม ๒๕๐๖ ขณะนี้การก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกท่าที่หนึ่งได้เสร็จสิ้นลงแล้วและได้ทำ พิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ โดย พล อ. อ.ทวี จุลละทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหมเป็นประธาน ส่วนอีกสามท่าที่เหลือนั้น อยู่ในระหว่างก่อสร้าง กำหนดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมกราคม ๒๕๑๑
     ท่าเทียบเรือ น้ำลึกท่าแรกใช้เวลาก่อสร้าง ๑๖ เดือน นับตั้งแต่เริ่มสร้างในเดือนเมษายนปีที่แล้ว โดยใช้อิฐดินทรายและคอนกรีตทับถมลงในขอบเหล็กกล้า จนกระทั่งเป็นท่ายิ่นออกไปในทะเลเป็นพื้นที่ราว ๒ - ๓ ร้อยตารางเมตร ให้เรือใหญ่เข้าเทียบและขนถ่ายวัสดุต่างๆ ได้ เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นตามโครงการทั้งสี่ท่าแล้ว ท่าเทียบเรือทั้งหมดจะมีพื้นทีประมาณ ๑ ล้านตารางฟุต มีคลังสินค้าขนาดใหญ่ ตลอดจนบริการสนับสนุนอื่นๆ สำหรับท่าเรือพร้อมสรรพ และไม่ว่าเรื่อที่เข้าเทียบท่าจะเป็นเรือบรรทุกของหรือเรือรบ เรือเหล่านี้ก็จะจะจอดเรียงกันได้ถึงสี่ลำในเวลาเดียวกัน ทำให้สามารถขนถ่ายวัสดุได้ไม่น้อยกว่า ๑๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์ตันต่อเดือน งบประมาณในการก่อสร้างตามโครงการนี้ตกประมาณ ๘๖๐ ล้านบาท โดยรัฐบาลสหรัฐเป็นฝ่ายออกเงินค่าก่อสร้าง และใช้แรงงานในประเทศไทยร่วมงานก่อสร้างทั้งหมด
     นอกจาก ท่าเทียบเรือทั้งสี่ท่านี้แล้ว ยังมีอีกสามท่าอยู่ในบริเวณอ่าวสัตหีบเช่นกัน ได้แก่ท่าเทียบเรือ “เดอลอง” จอดเรือได้สองลำ ท่าเทียบเรือตามโครงการช่วยเหลือทางทหารจอดเรือได้หนึ่งลำ และท่าเทียบเรือขนถ่ายน้ำมันจอดเรือได้หนึ่งลำ เมื่อนับรวมทั้งเจ็ดท่าแล้ว ท่าเทียบเรือทั้งหมดในบริเวณอ่าวสัตหีบก็จะสามารถเทียบเรือได้ถึง ๘ ลำในคราวเดียวกัน
     ท่าเทียบเรือน้ำลึกดังกล่าวข้างต้นนี้ จะอำนวยประโยชน์แก่ประเทศไทย ทั้งในทางทหารและการเสรษฐกิจ ในทางทหารท่าเทียบเรือนี้จะช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการป้องกันประเทศตาม ที่ต้องการ ทำให้มีการจัดส่งกำลังพล กำลังสรรพาวุธ และกำลังบำรุงได้สะดวก ซึ่งจะสามารถอำนวยประโยชน์ในการรบต่อเนื่องได้โดยสมบูรณ์
     ส่วนประโยชน์ในทางเศรษฐกิจนั้น ท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่นี้ จะสามารถแบ่งเบาภาระขนถ่ายที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ลง ทั้งจะช่วยสร้างสรรค์ความไพบูลย์ของท้องถิ่นในภาคตะวันออกฉียงใต้ของประเทศ ไทย โดยการสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างสัตหีบกับเส้นทางเบี่ยงใกล้เคียงกับจังหวัด ฉะเชิงเทรา โครงการก่อสร้างเหล่านี้จะอำนวยประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยเป็นอเนก ประการ

 
 หลังจากพิธีการปราศรัย พล อ.อ.ทวี กับอัครราชทูตสหรัฐ ได้จับมือกัน ก่อนร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดท่าฯ

      ใน การกล่าวปราศัยเชิญ พลอ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหมเปิดท่าเทียบเรือน้ำลึกท่าแรก ที่สัตหีบ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม อัครราชทูต นอร์แมน บี.ฮานนาห์ ผู้แทนฝ่ายสหรัฐได้กล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า :
      “ท่าเรือ จะกระจายผลผลิตต่างๆ ออกไปตามเส้นทางคมนาคมทางบก และจะช่วยสนองความต้องการในด้านการค้าของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงจะชักนำให้มีการส่งผลผลิตเพิ่มขึ้น ข้าวไทยอันมีคุณภาพเป็นเยี่ยม ไม้ขอน ปูนซิเมนต์ ตลอดจนผลิตผลอุตสาหกรรมและเคมีภัณฑ์ อาจส่งออกไปแลกเปลี่ยนสินค้าต่างประเทศได้โดยอาศัยท่าเรือนี้... ความเจริญเป็นเหตุให้บังเกิดความเจริญรุดหน้ายิ่งขึ้น บรรดาจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับชายทะเลตอนใต้ ก็จะได้รับประโยชน์จากการพาณิชย์ ด้วยอาศัยท่าเรือแห่งนี้ดุจเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ”
      ในการกล่าวตอบ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหมกล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า :
      “หาก ปราศจากการป้องกันประเทศ ก็ย่อมปราศจากการพาณิชย์ แต่นับเป็นโชคดีอย่างหนึ่ง ณ ที่สัตหีบนี้ เราสามารถผนวกการป้องกันและการพาณิชย์ไว้ด้วยกันได้ เรือที่บรรทุกยุทโธปกรณ์ อาวุธ กระสุน และทหาร เพื่อทำการป้องกันการรุกราน จะสามารถใช้ท่าเรือนี้เข้าออก ลำเลียงขนส่งอาหารสำหรับผู้ขาดแคลนได้... เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอีกไม่นานเท่าใดนัก เราก็คงสามารถจะใช้ท่าเรือนี้เป็นประโยชน์ได้ทั้งในทางทหารและพลเรือน และท่าเรือนี้คงจะมีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างไม่ต้องสงสัย”

แล้วการขนถ่ายวัสดุจากเรือที่เทียบท่าก็เริ่มขึ้นทันที

     เมื่อ พล อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ และอัครราชทูตสหรัฐ ร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่แล้ว เรือขนส่งวัสดุทางทหารลำหนึ่งซึ่งจอดเทียบท่าอยู่พร้อมแล้ว ก็เริ่มขนถ่ายวัสดุ มีรถตีนตะขาบ เป็นต้น ลงยังท่าทันที เรือลำนี้ชื่อว่า นอร์วอร์ค เป็นเรือลำแรกที่ได้เดินทางมาถึง และได้เทียบท่าเรือนี้ประจวบกับวาระทำพิธีเปิดพอดี.

ข้อมูลจาก : นิตยสาร เสรีภาพ ฉบับที่ 175 ของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ

Comments

  1. อยู่มาจนฉันอายุล่วงเลย60ปี สรุปแล้วอิฉันยังไม่เห็นว่าท่าเรือแห่งนี้จะสามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้คนไทยหายจนเลย ยังยิ่งจนกว่าเดิม กองทัพเรือโดนหลอกหรือตั้งใจให้หลอก

    ReplyDelete

Post a Comment