วันบริพัตร - คณะราษฎร สายทหารเรือ

วันบริพัตร 29 มิ.ย.
จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
จอมพลบางขุนพรหม

ในเดือนมิถุนายน สำหรับทหารเรือแล้ว มีวันสำคัญอยู่วันหนึ่งคือ "วันบริพัตร" ซึ่งถือเป็นวันคล้ายวันประสูติของ จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โดยทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๓๓ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ อีกพระองค์หนึ่ง นอกจากเสด็จเตี่ย ที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดี ซึ่งในบทความนี้ผมจะไม่ขอกล่าวถึงพระประวัติของพระองค์ เพราะท่านสามารถเข้าไปศึกษาดูได้ในเว็บไซต์ของกองทัพเรือ ตามนี้

สำหรับนักประชาธิปไตยโดยทั่วไปในเดือน มิถุนายน นี้ส่วนใหญ่คงจะนึกถึงวันที่ คณะราษฎร กระทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิ.ย. 2475 เป็นแน่แท้.....
ปัจจุบันเราให้การยกย่องกับ คณะราษฎร กันมาก โดยเฉพาะกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นพิเศษ แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า มีบุคคลสำคัญอยู่คนหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ ที่ได้รับการยกย่องน้อยกว่าที่ควรจะเป็น...

“หมุดคณะราษฎร์” เป็นจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนายืนอ่านแถลงการณ์ที่เขียนด้วยภาษาเยอรมัน แต่อ่านเป็นภาษาไทย..... ข้อความที่หมุดนั้นอ่านว่า
“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่ใครหรอกครับ ก็ เจ้าฟ้าบริพัตรฯ ที่ผมกล่าวถึงในตอนต้นนั่นแหละครับ
เพราะในวันที่เกิดเหตุนั้น หลังจากที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะฯ ได้ประกาศจะปฏิวัติแล้ว ก็ได้ให้ทหารเข้าทำการจับกุมเจ้านาย หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไว้จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะ
เจ้าฟ้าบริพัตรฯ ไว้เป็นองค์ประกัน เนื่องจากพระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการพระนคร ,ประธานอภิรัฐมนตรีสภา และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กล่าวโดยสรุปก็คือในขณะนั้น พระองค์ทรงมีอำนาจสูงสุดรองจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ก็ดีสุดแสน และไม่ต้องการให้คนไทยรบราฆ่าฟันกันเอง โดยทรงยอมให้กับคณะราษฎรและทรงออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง เรียกว่า "ประกาศ บริพัตร" มีใจความดังนี้

" ด้วยตามที่คณะราษฎร ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้ โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยาม มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น
ข้าพเจ้าขอให้ ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลาย จงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยกันเองโดยไม่จำเป็นเลย"
(ลงนาม) บริพัตร 24 มิถุนายน 2475

ณ วังบางขุนพรหม ที่มีกองกำลังตำรวจชั้นอัศวินรักษาการณ์อยู่อย่างแน่นหนา กับกองกำลังปฏิวัติที่ใช้นักเรียนนายร้อยเด็ก ๆ เข้าปิดล้อม หากเกิดการปะทะกันจริง ผลนั้นย่อมรู้อยู่แก่ใจ แต่ ชาติ ,บ้านเมือง และชีวิตมนุษย์อีกหลายพันหมื่น จะเป็นอย่างไร หากพระองค์ตัดสินใจตอบโต้คณะราษฎร พระองค์ทรงห้ามมิให้อัศวินคนใดยิงปืน และทรงรักษาคำนั้น ทรงมีจิตใจที่กล้าหาญ และเสียสละ ทรงยอมตกอยู่ในความควบคุมของนักเรียนนายร้อยวัยละอ่อนทั้ง ๆ ที่ยังทรงอยู่ในชุดบรรทม.... เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ....นี่คือลูกผู้ชาย ผู้อุทิศตนอย่างแท้จริง

วังบางขุนพรหม สถานที่ ๆ เปรียบเสมือน "ถ้ำเสือ" ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่คณะราษฎรจะบุกเข้าไปได้ นอกเสียจากว่า เสือจะยอมออกจากถ้ำเอง

ส่วนการกระทำของคณะราษฎรนั้น แม้จะมีเจตนาดีเพื่อชาติบ้านเมือง แต่กระทำด้วยการหลอกลวงตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งกับเพื่อนทหาร กับตัวคณะฯ ด้วยกันเอง แม้กระทั่ง เจ้าฟ้าบริพัตรฯ ก็ด้วย (ขอละไว้เพื่อให้ท่าน ศึกษาดูกันเองบ้าง) ผลกระทบแห่งการหลอกลวงนั้นจึง กระทั่งมาถึง "เรา" จวบจนทุกวันนี้

ก่อนจบขอแถมด้วยรายชื่อ คณะราษฎร สายทหารเรือ เป็นกับแกล้มครับ....สวัสดี

กลุ่มผู้ลงมือ
1. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
2. นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)
3. นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)
4. นายนาวาตรี หลวงนาวาวิจิตร (ผัน อำไภวัลย์)
5. นายเรือเอก หลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา)
6. นายเรือเอก หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ)
7. นายเรือเอก สงบ จรูญพร
8. นายเรือเอก ชลิต กุลกำม์ธร
9. นายเรือเอก ทิพย์ ประสานสุข
10. นายเรือเอก สงวน รุจิราภา
11. นายเรือโท จิบ ศิริไพบูลย์
12. นายเรือโท ทองหล่อ (ทหาร) ขำหิรัญ
13. นายเรือโท ประเสริฐ สุขสมัย
14. นายเรือโท วัน รุยาพร
15. นายเรือโท ชลี สินธุโสภณ
16. นายเรือตรี กุหลาบ กาญจนสกุล
17. นายเรือตรี ชั้น รัศมิทัต
18. นายเรือตรี ทองดี ระงับภัย

กลุ่มที่ไม่ได้ร่วมลงมือ
1. นายเรือเอก หลวงจำรัสจักราวุธ
2. นายเรือเอก หลวงเจียรกลการ
3. นายเรือเอก สวัสดิ์ จันทนี
4. นายเรือโท ศรี ดาวราย
5. นายเรือโท ทัศน์ กรานเลิศ
6. นายเรือโท ขุนกำจัดโรคาพาธ

รวมทั้งหมด ๒๔ คน

Comments