ปืนใหญ่ต้องสงสัย ? ตอนที่๑

ปืนใหญ่ต้องสงสัย
  • “เป็นข้อบกพร่องข้อหนึ่งของมนุษย์ ที่มักจะมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัว กว่าจะรู้ว่าสิ่งนั้นมีค่า ก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้ว หรืออาจจะไม่มีวันล่วงรู้เลยก็ได้” เรื่องราวต่อไปนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน
  • ผมเชื่อเหลือเกินว่า พวกเราชาวเรือสาขาสัตหีบทุกนาย คงจะคุ้นหูคุ้นตากับปืนใหญ่กระบอกนี้อยู่บ้าง เพราะถ้าจะเข้าไปที่ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ เราจะต้องผ่านปืนใหญ่กระบอกนี้ก่อน เนื่องจากว่ามันตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในวงเวียนหน้าหอประชุม กองการฝึกกองเรือยุทธการ หรือหน้ากองบัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ นั่นเอง แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า ปืนกระบอกนี้มีความสำคัญอย่างไร...?
  • ตัวผมเองก็ไม่เคยทราบมาก่อนจนกระทั่งวันหนึ่ง งานเข้า...ต้องไปถ่ายภาพหอประชุม กฝร. เพื่อทำบรรยายสรุปเกี่ยวกับการซ่อมปรับปรุงอาคาร จึงต้องเดินข้ามถนนมายืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่ในวงเวียนเพื่อเก็บภาพด้านหน้าของหอประชุม กฝร. .....และแล้ววันนั้นทั้งวันหัวใจดวงน้อยของผมก็พองโต เมื่อได้พบเจอกับปืนที่มีคุณค่ายิ่งต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยกระบอกนี้
  • ลักษณะของปืนเป็นแบบปืนใหญ่โบราณที่ใช้กันบนบก แต่ความจริงแล้วปืนกระบอกนี้เป็นปืนใหญ่ประจำเรือหาญหักศัตรู(ลำที่สอง) ที่ใช้ต่อกรกับเรือรบฝรั่งเศสในสมัย ร.ศ.๑๑๒ จริง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตำนาน นิทาน หรือเรื่องเล่าสนุกปาก แต่ปืนกระบอกนี้มีส่วนร่วมในการรักษาเอกราชของชาติไทย ที่เรายังสามารถจับต้องได้อยู่ ซึ่งในปัจจุบันน้อยคนนักที่จะรู้จัก คงอาจจะมีเพียงทหารเรือรุ่นเก่า ๆ สารวัตรทหารที่โบกรถแถว ๆ นั้น หรือ พลทหารที่ดูแลสวนหย่อมเท่านั้น ที่รู้จักก็เป็นได้ ...

ป้ายบรรยายใต้ฐานปืน ทำจากแผ่นโลหะ มีสภาพเก่า และมีข้อผิดพลาดเป็นบางจุด

ลักษณะโดยทั่วไป

  • ที่ฐานของปืนใหญ่ มีข้อความกล่าวบรรยายไว้ว่า “ปืนใหญ่กระบอกนี้ สร้างโดย บริษัท อาร์มสตอง (Sir. WG. Armsthong*) ในอังกฤษ เมื่อ ค.ศ.๑๘๗๔ (พ.ศ.๒๔๑๗) บรรจุทางปากกระบอก กว้าง ๙ นิ้วฟุต น้ำหนักปืน ๒๕,๙๗๒ ปอนด์ ลำกล้องมีเกลียว ๖ เกลียว ใช้กระสุนหนัก ๒๔.๖ ปอนด์ (บรรจุดินระเบิด ๑๗ ปอนด์) ใช้ดินขับเป็นดินดำชนิดดินลูกบาศก์ หนัก ๕๐ ปอนด์ ความเร็วต้น ๑,๔๔๐ ฟุตต่อวินาที สามารถเจาะเกราะได้หนา ๙.๘ นิ้ว ในระยะ ๑,๐๐๐ หลา เป็นปืนประจำเรือหาญหักศัตรู (ลำที่ ๒) เรือหาญหักศัตรูได้ทำการรบกับ แองกองสตังค์ และโคแมค* ของฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ได้ใช้ปืนกระบอกนี้ยิงถูกเรือ เย.บี.เซย์. ซึ่งแล่นนำร่องให้เรือรบฝรั่งเศส ๒ นัด จนเรือ เย.บี.เซย์. ต้องเข้าเกยชายฝั่งตะวันออกของปากน้ำเจ้าพระยา” (* จุดที่ผิดควรแก้เป็น Armstrong และ โคแมต)
  • รายละเอียดอื่น ๆ ที่ฐานเหล็กด้านขวาของปืนมีอักษรจารึกว่า “ Sir W.G. Armstrong & Co , Newcastle on Tyne No.1286 ” บ่งบอกถึงชื่อบริษัท เมือง และหมายเลขที่ผลิต ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นหากจะเรียกปืนนี้ว่า “ ปืนสาลิกาดง ” ก็น่าจะเข้าท่า และทันยุคทันสมัยดี.....
  • ส่วนบริเวณโดยรอบ มีพุ่มไม้ตัดแต่งเป็นรูปตราสัญลักษณ์ของฐานทัพเรือสัตหีบ คั่นระหว่างข้อความ “ ยินดีต้อนรับ ” และ “ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๖๕ ” ซึ่งถือเป็นวันจัดตั้ง “กองโยธาสัตหีบ” หรือ ฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบัน ตามคำกราบทูลขอต่อ ในหลวง ร.๖ ของ เสด็จเตี่ย เพื่อพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบ จัดเป็นฐานทัพเรือ
  • ผมไม่ทราบว่าปืนใหญ่กระบอกนี้มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ จะมาพร้อมกับกองโยธาเลยหรือไม่ ก็มิทราบได้ เพราะเท่าที่ถามจากข้าราชการอาวุโส ๒๐ กว่าปี เขาก็บอกว่ามันอยู่ตรงนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เอาเป็นว่าให้มันเป็นการบ้านของผม หรือผู้รู้ต่อไปก็แล้วกันครับ

Comments

Post a Comment