ปืนใหญ่ต้องสงสัย ? ตอนที่๔

ปืนใหญ่ต้องสงสัย
ภาพการติดตั้งปืนใหญ่ Armstrong บนเรือรบของออสเตรเลีย ซึ่งในภาพเป็นปืนที่มีขนาดความกว้างปากกระบอก ๙ นิ้วรุ่นและแบบเดียวกันกับปืนที่ติดตั้งบนเรือหาญหักศัตรู ปัจจุบันปืนเหล่านี้ทางออสเตรเลียก็ยังคงเก็บรักษาอยู่ และยังเคยมีการนำมายิงสาธิตด้วย
การสาธิตยิงปืนใหญ่ขนาด ๙ นิ้ว ที่ป้อม Gellibrand ประเทศ ออสเตรเลีย ด้วยอานุภาพขนาดนี้ เรือที่ไหนโดนก็จมแน่นอน
  • ส่วนปืนเสือหมอบบนป้อม ฯ ก็เป็นปืนที่เพิ่งจัดหามาใหม่ และทำการทดลองยิงในวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ก่อนหน้าเหตุการณ์ในครั้งนี้เพียง ๓ เดือน ทหารที่ทำการยิงขาดความชำนาญ และไม่เคยทำการยิงทำนองยุทธ์มาก่อน ผลการยิงส่วนใหญ่ ผบ.เรือโคแมต ได้บันทึกไว้ว่า “การยิงของฝ่ายสยามไม่ใคร่แม่น อำนวยการยิงไม่ดี และไม่มีการคำนึงถึงความเร็วเรือของเราเพื่อแก้ศูนย์ ส่วนใหญ่ของการยิงกระสุนจึงตกสูง หรือหลุดท้ายเรือเราไป” แต่อย่างไรก็ดี ฝ่ายสยามก็สามารถยิงถูกเรือของฝรั่งเศสได้บ้าง แม้จะไม่โดนส่วนสำคัญขนาดทำให้เรือหมดสมรรถภาพก็ตามที โดยเรือเย.บี.เซย์ โดนยิง ๒ แห่ง เรือโคแมต ๒ แห่ง และ เรือแองคองสตังค์ก็มีรอยลูกปืนใหญ่อีกหลายแห่ง

แบบแปลนของปืนเสือหมอบ มีความกว้างปากกระบอก ๖ นิ้ว ลำกล้องหนัก ๕ ตัน บรรจุทางท้ายกระบอก สามารถยกตัวขึ้น - ลงได้ แสดงถึงความสามารถของราชนาวีสยาม ที่แม้จะมีเวลาเตรียมการน้อย แต่ก็ยังสามารถใช้ปืนที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นได้

  • สำหรับตอร์ปิโดที่มีถึง ๑๖ ลูก แต่ระเบิดได้เพียง ๑ ลูก เราต้องทำความเข้าใจว่าในสมัยก่อนนั้น ยังไม่มีทุ่นระเบิดซึ่งสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติเหมือนในสมัยนี้ การจะยิง(จุดชนวน)ตอร์ปิโดได้ เราจะต้องทำการยิงจากสถานีบนฝั่งหรือเรือยิง ซึ่งในเหตุการณ์ ฯ นี้เราใช้เรือยิงตอร์ปิโด ซึ่งต้องอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นด้วย ลองนึกภาพดูนะครับว่าการที่ต้องหลบกระสุนปืนไปด้วย กะจังหวะยิงตอร์ปิโดไปด้วย มันช่างลำบากยากเข็ญขนาดไหน ซึ่งผลที่ได้ก็คือ มันระเบิดก่อนหน้าเรือแองคองสตังค์จะมาถึงประมาณ ๓๐-๔๐ หลา จึงไม่เกิดผลอะไรขึ้นเลย ส่วนอีก ๑๕ ลูกที่เหลือนั้น คาดว่านายทหารควบคุมการยิงคงจ้าละหวั่นกับการหลบกระสุนอยู่นั่นเอง...
ตอร์ปิโด หรือทุ่นระเบิดในสมัยนั้น ทำจากหีบเหล็กใส่ดินดำผูกกับแพ หย่อนไว้ใต้น้ำ ล่ามสายไฟฟ้า และจุดระเบิดด้วยมือ จากสถานียิงบนเรือ หรือบนฝั่ง ทั้งนี้โปรดสังเกตว่า เราทำสงครามทุ่นระเบิดมาตั้งแต่สมัย ร.๕ แล้ว มิใช่เพิ่งเริ่มใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อย่างที่เคยเข้าใจกัน

ก่อนสิ้นสงสัย
  • ของใกล้ ๆ ตัว เราพบเห็น เราเจอทุกวัน แต่กลับไม่ได้รับรู้ หรือสังเกตเห็นเลยว่ามันคืออะไร มีคุณค่าอย่างไร ปืนกระบอกนี้ก็เช่นกัน แม้มันจะตั้งอยู่ในที่ ๆ สังเกตเห็นง่าย มีคนผ่านไปผ่านมาทุกวัน แต่ก็กลับมีน้อยคนนักที่จะสนใจในคุณค่า หรือความเป็นมาของมัน

ทุกวันนี้ปืนใหญ่ประจำเรือหาญหักศัตรู ยังคงหันหน้าออกไปทางทะเล เพื่อคุ้มครอง ชาติ ราชนาวี และ ลูก หลาน ทหารเรือไทยทุกนาย

  • บรรพบุรุษทหารเรือของเราสอนไว้เสมอ ว่าอย่าลืมอดีตทั้ง รอยสัก เรือน้ำตาล ร.ล.ธนบุรี ฯลฯ ล้วนเป็นความตั้งใจของบรรพบุรุษของเราทั้งสิ้น ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เราควรจะจดจำ และนำมาเป็นบทเรียน ประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้ที่มาที่ไปของตนเอง หากเราไม่สนใจในประวัติศาสตร์ของเราเอง เราจะไม่มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น... อยู่... คือ... เลย หลังจากเราได้ทราบที่มาที่ไปของปืนกระบอกนี้แล้ว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครั้งต่อไปเมื่อเราได้พบเจอกับปืนกระบอกนี้อีก เราจะสามารถระลึกได้ถึงวีรกรรม และเกียรติประวัติของมัน ที่ได้แสดงให้โลกเห็นว่า ราชนาวีไทย ไม่เคยยอมให้ใครย่ำยี.... “เรา” ในฐานะอนุชนคนรุ่นหลัง ก็อย่าปล่อยให้ “ทหารเรือ” เป็นเพียงแค่อาชีพ ๆ หนึ่ง นะครับ... สวัสดี
อ้างอิง : - แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี และ สวัสดิ์ จันทนี, นาวาเอก. กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และ การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ.๑๑๒. กรุงเทพฯ : กรมยุทธศึกษาทหารเรือ, ๒๕๑๐

- http://www.cerberus.com.au/reenactors/9_inch_armstrong_slideshow.html เว็บไซต์นี้ มีรูปภาพ และวีดีโอสาธิตการยิงปืนใหญ่ Armstrong ให้รับชม

Comments

  1. ชอบมากครับ และขอบคุณข้อมูลดีๆที่ละเอียดเป็นความรู้ให้กระผมมากครับ

    ReplyDelete

Post a Comment