“ริชลิว” ผู้อยู่เบื้องหลัง ราชบัลลังก์ ตอนที่ ๑
- เหตุการณ์ “ร.ศ.๑๑๒” (พ.ศ.๒๔๓๖) สำหรับเราชาวไทย โดยเฉพาะทหารเรือลูกประดู่ของเสด็จเตี่ย คงจะจดจำได้ดีถึงเรื่องราว กรณีพิพาทระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส อันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเงินค่าปรับให้กับฝรั่งเศสหลายล้านบาท นอกจากนี้ จันทบุรี และตราด ก็ยังถูกฝรั่งเศสยึดครองไปอีกหลายปี ทำให้เราต้องยอมเสียดินแดนอีกครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อแลกคืนมาอย่างเจ็บปวด จนเป็นที่มาของรอยสัก “ตราด ร.ศ.๑๑๒” บนพระอุระ (หน้าอก) ของเสด็จเตี่ย และเรือฝึกนักเรียนนายเรือที่ชื่อ “เรือน้ำตาล” ซึ่งเสด็จเตี่ยทรง ตั้งชื่อนี้ไว้เพื่อหมายแก้เผ็ดฝรั่งเศส
- เรื่องราวที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์การทหารเรือไทย นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวเอาไว้ว่า บางครั้งประวัติศาสตร์จะสมบูรณ์ได้นั้น ต้องอาศัยจินตนาการรวมเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นแล้วผมจึงขอออกตัวก่อนเลยว่า เรื่องราวของผมนี้เกิดจากการรวบรวม ค้นคว้า ศึกษา แล้วนำมารวมกับจินตนาการ ผูกให้เป็นเรื่องราวโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้มา เอาเป็นว่า ให้อ่านกันเล่นๆ สนุกสนาน กระเซ้าให้เอาไปคิด และต่อยอดกันครับ
กัปตันริชลิว
- “ริชลิว” เป็นชื่อของนายทหารชาวเดนมาร์คท่านหนึ่ง ที่ได้เข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ และมีส่วนร่วมสำคัญในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ การที่ผมขึ้นหัวเรื่องว่า “ร.ศ.๑๑๒.....ริชลิว ผู้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์” นั้น มีที่มาจากศัพท์สแลงภาษาฝรั่งเศส คำว่า Richelieu มีความหมายว่า “เล่ห์กลการเมือง และความทะเยอทะยาน เบื้องหลังราชบัลลังก์”
- กัปตันริชลิว ท่านมีบรรพบุรุษเป็นชาวฝรั่งเศส นามว่า “Armand Jean du Plessis, Cardinal-Duc de Richelieu” หรือ คาดินัลริชลิว (๙ กันยายน พ.ศ.๒๑๒๘ - ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๑๘๕) เป็นพระราชาคณะของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีอำนาจและบทบาทเป็นอย่างมากในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่๑๓ ซึ่งนโยบายต่างๆ ที่ใช้ในการปกครองบริหารประเทศ และการทหาร ล้วนมาจาก คาดินัลริชลิว โดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่๑๓ เป็นเพียงหุ่นเชิดของเขาเท่านั้น แต่ก็ด้วยแนวทางในการบริหารประเทศของเขา ฝรั่งเศส จึงสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของยุโรปได้ โดยตำแหน่ง และหน้าที่ของเขานั้น หากเปรียบเทียบกับปัจจุบันก็คงเทียบได้กับ นายกรัฐมนตรี นี่เอง จนมีคนเปรียบเปรยเอาไว้ว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของโลก
Cardinal-Duc de Richelieu ผู้เป็นดั่ง นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส ในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่๑๓
- ในมุมมองของ ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ คาดินัลริชลิว นั้นเป็นดั่งวีรบุรุษ เห็นได้จากการใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อ สถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งเรือรบ แต่ก็ยังมีคนไม่ชอบเขา โดยอ้างว่าเขามีความทะเยอทะยาน และมีลับลมคมในเยอะ เนื่องจาก คาดินัลริชลิว สร้างเครือข่าย และมีสายลับอยู่ทั่ว ทั้งใน และนอกประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแม้แต่ พระเจ้าหลุยส์ที่๑๓ เอง ก็เคยปลดเขาออกจากตำแหน่งมาแล้วเพราะความหวาดระแวงในอำนาจของเขา แต่ก็ด้วยเครือข่ายบริวาร และนโยบายที่เขาได้วางเอาไว้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ จำใจต้องเรียกเขากลับมาอีกครั้ง แม้แต่ในนิยาย ชื่อดังเรื่อง “The Three Musketeers” หรือ “ทแกล้วทหารสามเกลอ” ก็ยังมี คาดินัลริชลิว เป็นตัวร้ายที่มีอุปนิสัย เจ้าเล่ห์เพทุบาย กระหายในอำนาจ และมีความทะเยอทะยานสูง ทำให้ชื่อ “ริชลิว” กลายเป็นคำศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายในทำนองว่า เล่ห์กลการเมือง และความทะเยอทะยาน “เบื้องหลังราชบัลลังก์”
เรือรบฝรั่งเศสในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชื่อ ริชลิว
- ย้อนกลับมาดูประวัติของกัปตันริชลิว ของเราบ้าง ท่านมีนามเดิมว่า André du Plésis de Richelieu คนไทยเราเรียก ริเชอลิเออ ริเชลิว หรือริชลิว ตามแต่สะดวก ซึ่งยศ และบรรดาศักดิ์สุดท้ายของท่านในการรับราชการคือ พลเรือโทพระยาชลยุทธโยธินทร์ และได้เป็นถึง ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ (๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๓ - ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๔) กับตันริชลิว เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๙๕ ที่ตำบล ลอยด์(Lojt) เมืองโอเบนโร (Aabenraa) ประเทศเดนมาร์ก บรรพบุรุษเดิมอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และสืบเชื้อสายมาจาก Duc de Richelieu ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใดครอบครัวของท่านจึงอพยพมาอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก เพราะจากหลักฐานที่มีอยู่นั้นบ้างก็ว่าลี้ภัยเข้ามา บ้างก็ว่าในอดีต เดนมาร์ก และฝรั่งเศสเคยทำสงครามร่วมกัน หรือบ้างก็ว่าฝรั่งเศสคิดขับไล่เดนมาร์กออกจากพื้นที่จึงส่งกองทหาร และผู้คนเข้าไปตั้งรกราก ครอบครัวของท่านจึงได้อาศัยอยู่ที่นั่นเรื่อยมา กัปตันริชลิว เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียน Latinskole และโรงเรียนนายเรือ แล้วจึงเข้ารับราชการในกองทัพเดนมาร์ก จากนั้นจึงเข้ามารับราชการในประเทศสยาม ในเดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๑๘ โดยมีเอกสารรับรองการเป็นนายทหาร และกับตันเรือจาก พระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ พระเจ้าแผ่นดินแห่งเดนมาร์กมาด้วย เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการเรือพิทยัมรณยุทธ (Regent) ประจำอยู่ที่เมืองภูเก็ต เป็นตำแหน่งแรก
กัปตันริชลิว หรือ พลเรือโทพระยาชลยุทธโยธินทร์
ชาวต่างชาติคนแรก และ คนสุดท้ายที่ได้เป็น ผู้บัญชาการทหารเรือไทย
ชาวต่างชาติคนแรก และ คนสุดท้ายที่ได้เป็น ผู้บัญชาการทหารเรือไทย
- ผลงานของกัปตันริชลิว มีมากมาย เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การสำรวจภูมิประเทศ แผนที่ทะเล ซึ่งท่านก็ได้นำน้องชายของท่านชื่อ Louis du Plésis de Richelieu (พระพลสินธวาณัตก์) เข้ามาช่วยงานในกองแผนที่ทะเลด้วย โดยที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา มีแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง ชื่อกองหินริเชลิว (Richelieu Rock) มีลักษณะเป็นภูเขาหินปริ่มน้ำ เป็นแหล่งปะการังที่อุดมสมบูรณ์ ชื่อของกองหินนี้ก็คงจะมาจากการทำงานในกองแผนที่ทะเลของคนตระกูล ริชลิว และเพื่อเป็นเกียรติแก่ ริชลิว ผู้พี่ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือด้วย
- นอกจากงานราชการแล้ว กัปตันริชลิว ยังได้ประกอบธุรกิจส่วนตัวอีกหลายอย่างเช่น ธุรกิจรถไฟ รถราง และธุรกิจการผลิตไฟฟ้าออกจำหน่าย ซึ่งก็ได้นำความเจริญมาสู่ประเทศสยาม เป็นอย่างมาก ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการให้สยามมีความเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นการถ่วงดุล อังกฤษและฝรั่งเศส โดยเปิดโอกาสให้ชาติเป็นกลางอย่างเดนมาร์ก หรือเยอรมัน เข้ามามีผลประโยชน์ในสยาม
- สำหรับเหตุการณ์ที่ กัปตันริชริว มีบทบาทมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็คือ เหตุการณ์กรณีพิพาท ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ ซึ่งท่านมีส่วนร่วมตั้งแต่ การวางแผน การเตรียมการป้องกัน และเหตุการณ์หลังจากที่เรือรบของฝรั่งเศสได้รุกล้ำเข้ามาแล้ว
ขอเรียนถามว่า
ReplyDeleteเริ่มเรียกว่า Richelieu Rock
ตั้งแต่เมื่อไหร่ ขอบคุณครับ