"ริชลิว" ผู้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังค์ ตอนที่ ๓

เบื้องหลังราชบัลลังก์...?
  • เราผ่านเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนงำมาแล้ว คราวนี้ถึงเวลาที่จะมาวิเคราะห์กันสักทีว่า เหตุใด และทำไม ริชลิว จึงอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์…? ตามความหมายในภาษาฝรั่งเศสซึ่งก่อนอื่น ผมขอย้ำเตือนกันอีกครั้งว่า ข้อมูลต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผม ประกอบกับข้อมูลที่ผมพบ ซึ่งได้สร้างความรู้สึกสงสัยให้เกิดขึ้นหลายประการโดยส่วนตัวแล้วผมมิได้ความขัดเคืองอะไรกับนายทหารต่างชาติ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือท่านนี้ และมิได้ต้องการจะนินทาว่าร้ายให้เสื่อมเสีย ผมเป็นเพียงนายทหารเรือรุ่นหลังที่มีความสนใจในเรื่องราวของท่าน และพบว่าประวัติของท่านนั้น พิเศษ และน่าสนใจอย่างยิ่ง ดังต่อไปนี้


เชื้อสายฝรั่งเศส

  • ตามประวัติของ กัปตันริชลิว ที่ถึงแม้จะเป็นชาวเดนมาร์ก แต่ ก็มีเชื้อสายฝรั่งเศส อีกทั้ง คาดินัลริชลิว บรรพบุรุษของท่านก็มิได้เป็นสามัญชนคนธรรมดา โดยเป็นบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส เป็นผู้ที่วางรากฐานให้ฝรั่งเศสก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของยุโรป ชาวฝรั่งเศสยกย่องให้ คาดินัลริชลิว เป็นดั่งวีรบุรุษ ซึ่งลูกหลานของท่านก็ได้รับการยกย่อง และความภาคภูมิใจอันนั้นสืบทอดกันเรื่อยมาหลายชั่วอายุคน
  • ประวัติของท่านในเอกสารของกองประวัติศาสตร์ กองทัพเรือ ระบุว่าท่านเกิดที่ ประเทศเดนมาร์ก สืบเชื้อสายมาจาก คาร์ดินัลริชลิว แต่จากข้อความข่าวของหนังสือพิมพ์ The New York Times ของอเมริกา ฉบับวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๓ ได้ระบุเอาไว้ว่า กัปตันริชลิว เป็นชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิด สืบเชื้อสายมาจากพี่ชายของ คาร์ดินัลริชลิว เมื่ออายุย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เขาจึงได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศเดนมาร์ก ที่ซึ่งเขาได้ศึกษาเล่าเรียน และรับราชการกองทัพเรือ นอกเหนือจากประวัติของกัปตันริชลิวแล้ว ใครจะเชื่อว่าในข่าวนี้ยังมีเรื่องแปลกอีกว่าครั้งหนึ่ง ผู้บัญชาการทหารเรือไทยจะเคยเกทับ กองทัพเรืออเมริกาว่า มีการเลื่อนชั้นยศที่ไม่เหมาะสม คือ แออัด และให้ทหารรับราชการเป็นผู้น้อยนานเกินไป ไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพ หากอายุ ๔๐ แล้วยังไม่ได้เป็นกัปตัน ก็จะไม่ได้เป็นอยู่อย่างนั้น (เห็นได้ว่าอเมริกาใช้เกณฑ์ความเหมาะสม ส่วนไทยใช้ความอาวุโส เป็นอย่างนี้มานานแล้ว) นักข่าวเขาเลยเกทับคืนว่า กัปตันริชลิว เป็นผู้จัดระเบียบกองทัพเรือสยาม และมีเรือรบ ๒๕ ลำ ที่จะสามารถคุ้มครอง ๑,๕๐๐ ไมล์ทะเลได้ ตามความคิดแบบชาวสยาม .....แสบดีจริง

บทความบางส่วนในหนังสือพิมพ์ The New York Times


  • ผมเชื่อว่า กัปตันริชลิว รู้จักเกียรติประวัติของบรรพบุรุษของท่านเป็นอย่างดี แม้จะอยู่ห่างกันเป็นช่วงเวลาประมาณ ๒๐๐ ปีก็ตาม การที่ท่านได้เข้ามารับราชการประเทศสยามในนามของกองทัพเดนมาร์ก และต้องเผชิญกับประเทศฝรั่งเศส เชื้อชาติบรรพบุรุษของตนเอง ความกดดัน ความสับสน ความกังวล การวางตัว ชื่อเสียงของคาดินัลริชลิว และความหวาดระแวงของชาวสยาม ปัญหาหลายสิ่งประดังเข้ามา นี่คงช่วงเวลาที่ลำบากใจอย่างยิ่ง ของกัปตันริชลิว.....
  • มีคำโบราณอยู่คำหนึ่ง..... เลือดข้นกว่าน้ำ .....สำหรับกรณีนี้คงยากที่จะตัดสิน และต้องหาคำตอบกันต่อไป


พระเจ้าคริสเตียนที่ ๙... และสายลับฝรั่งเศส

  • พระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ พระเจ้าแผ่นดินแห่งเดนมาร์ก ทรงเป็นผู้ที่รับรองรับรองคุณสมบัติการเป็นนายทหาร และกัปตันเรือ ของกัปตันริชลิว และได้ส่ง กัปตันริชลิวให้มารับราชการในสยาม ตามคำร้องขอของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้รับสมญานามว่า พ่อตาแห่งยุโรปเนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ เจ้าหญิงดัคมาร์ และเจ้าหญิงอเล็กซานดรา ซึ่งต่อมาได้สถาปนาเป็นพระราชินีของ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ ๓ แห่งรัสเซีย และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ แห่งอังกฤษ ตามลำดับ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นพระบรมราชชนกของกษัตริย์อีก ๒ พระองค์ คือพระเจ้าเฟเดอริกที่ ๘ แห่งเดนมาร์ก และพระเจ้ายอร์จที่ ๑ แห่งกรีก แล้วยังเป็นพระอัยกาของกษัตริย์อีก ๓ พระองค์ คือพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ แห่งรัสเซีย พระเจ้ายอร์จที่ ๕ แห่งอังกฤษ และพระเจ้าฮากอนที่ ๗ แห่งนอร์เวย์ นี่จึงเป็นที่มาของสมญานาม พ่อตาแห่งยุโรป

พระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ พ่อตาแห่งยุโรป ทรงเป็นศูนย์รวมใจของราชสำนักยุโรป

แต่ในราชสำนักของพระองค์กลับ มีสายลับจากฝรั่งเศสแอบแฝงอยู่


  • เรื่องที่ว่า มีสายลับในราชสำนักของพระองค์นั้นก็คือ พระโอรสของพระองค์ เจ้าชายวาลเดอมาร์ (Prince Waldemar) มีพระชายาเป็นเจ้าหญิงชาวฝรั่งเศส ชื่อ เจ้าหญิงมารี (Princess Marie Amilie Francoise Helene) ซึ่งเป็นคนกล้า บ้าบิ่น และรักชาติอย่างรุนแรง เจ้าหญิงมารีอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในราชสำนักเดนมาร์กอยู่หลายครั้ง อีกทั้งข่าวกรองต่างๆ ของราชสำนักเดนมาร์ก ก็มักจะรั่วไหลไปยังฝรั่งเศสเสมอ และด้วยความรักชาติของพระองค์ ทำให้พระองค์มีส่วนในเหตุการณ์กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสด้วย ดังเช่น การที่มีคำสั่งจากเดนมาร์กไม่ให้นายทหารเดนมาร์กเข้าร่วมรบกับฝรั่งเศส แต่ด้วยกำลังหลักในการป้องกันประเทศสยามในขณะนั้น เป็นนายทหารจากเดนมาร์กเสียส่วนใหญ่ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภเอาไว้ว่า เรื่องของกระทรวงกลาโหมนั้น เราได้ตั้งใจไว้เสียช้านานแล้วว่า หากว่าจะต้องการใช้ฝรั่ง จะไม่ใช้ชาติที่มีอำนาจใหญ่คืออังกฤษและฝรั่งเศส แต่จะใช้ชาติที่มีอำนาจชั้นที่ ๒ คือพวกเดน (เดนมาร์ก) เท่านั้น
  • ดังนั้นการที่จะทอดทิ้งสยาม ปล่อยให้ป้องกันตนเองอย่างทันทีทันใด ก็ดูจะเป็นการทำร้ายจิตใจกันเกินไป และเพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกัน เพราะทั้งพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ และเจ้าชายวาลเดอมาร์ ล้วนเป็นพระสหายสนิทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม ด้วยคำสั่งจากเดนมาร์กในครั้งนี้เองที่อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรบของนายทหารชาวเดนมาร์ก ลดทอนลงไปจนเป็นเหตุให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นผ่านเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาได้

ผลประโยชน์หรือความจงรักภักดี

  • เดนมาร์กเป็นชาตินักเดินเรือ การมีทะเลเหนือ ทางทิศตะวันตก และทะเลบอลติก ทางทิศตะวันออก ทำให้เดนมาร์กเป็นศูนย์กลางการค้าขาย และการเดินเรือของยุโรปเหนือ และการที่เดนมาร์กไม่มีนโยบายในการล่าอาณานิคม ทำให้เดนมาร์กสามารถทำการค้าขาย และดำเนินธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสนิทใจ รวมทั้งประเทศในเอเชียอย่าง สยามด้วย
  • สำหรับ กัปตันริชลิว นอกจากท่านจะรับราชการทหารเรือแล้ว ท่านยังมีธุรกิจอีกหลายอย่างในสยาม เช่นรถไฟ รถราง และไฟฟ้า โดยผ่านในรูปของบริษัทชื่อ อีสต์เอเชียติก ซึ่งบริษัทนี้มีหุ้นส่วนใหญ่คือ เจ้าชายวาลเดอมาร์ ของเดนมาร์กนั่นเอง การดำเนินธุรกิจของบริษัทก็เป็นไปในรูปแบบการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ คือ เดนมาร์กได้ผลกำไร ส่วนสยามได้ความเจริญอันทันสมัยอย่างชาติตะวันตก และเป็นผลทางการเมือง ทำให้สยามมีเดนมาร์กเป็นเกราะกันภัยอีกชั้นหนึ่ง
กัปตันริชลิวจัดตั้งกิจการรถไฟขึ้น เป็นครั้งแรกในสยามโดยได้ขอ
สัมปทานเดินรถสายกรุงเทพ - สมุทรปราการเป็นสายแรก

  • การที่กัปตันริชลิว รับราชการไปพร้อม ๆ กับการทำธุรกิจใหญ่ระดับชาติ ทำให้เกิดคำถามว่า เวลาส่วนใหญ่ของท่านจะใช้ไปในทางใด การที่จะต้องวางรากฐานของธุรกิจใหญ่ ๆ อย่างรถไฟ รถราง และไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นของใหม่ในสยาม ไม่น่าจะใช่เรื่องง่าย และใช้เวลาสั้น ๆ ในการควบคุม และดูแลกิจการเหล่านั้น
  • คำถามในข้อนี้ได้มีผู้แสดงออกมาก่อนแล้วในวิทยานิพนธ์เรื่อง พระยาชลยุทธโยธินทร์ : ผลประโยชน์หรือความจงรักภักดี ของ คุณ มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า ม.ศิลปากร ได้จัดทำไว้เมื่อ ปีพ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีความสนใจ ศึกษา ค้นคว้า และทำวิจัยเกี่ยวกับกองทัพเรือหลายเรื่อง และมีความแคลงใจ ในตัว กัปตันริชลิว เช่นกัน

Comments

  1. ขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนะครับ

    2 ย่อหน้าท้ายนี้คงจะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวถึง เพราะ

    ใน พ.ศ.นั้นระบบการตอบแทนแก่ข้าราชการ ไม่เป็นเช่นเดียวกันกับ พ.ศ.นี้
    แถมเวลานั้นกรมกองกระทรวงก็ไม่เหมือน พ.ศ.นี้แน่ๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยังทำงานที่บ้าน ฯลฯ ระบบการตอบแทนของราชการตอนนั้นไม่ใช่เงินเดือนเหมือน พ.ศ.นี้ เมื่อเราตัดสินอดีตจากปัจจุบัน คำกล่าวอ้างในย่อหน้าแรกจึงไม่น่าเชื่อถือ

    เราจะตอบแทนคนที่นำเทคโนโลยีเข้ามาให้สยามใช้ด้วยอะไร

    อีกอย่างหนึ่ง อจ มลิวัลย์ สรุปเช่นนั้นจริงหรือ ??? ใช้อะไรตัดสิน ???

    ReplyDelete

Post a Comment